วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ประชาชนทั่วทุกสารทิศร่วมงานประเพณีทอดผ้าป่าสามัคคี ปิดทองหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดและห่มผ้าพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ณ.“วัดพะโคะ”ประจำปี 2563

วันที่ 16 มกราคม 2563 เวลา 09.30 น. ณ วัดราชประดิษฐานหรือ วัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พระครูปุญญาพิศาล เจ้าคณะอำเภอสทิงพระ เจ้าอาวาสวัดพะโคะ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าฯ สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีทอดผ้าป่าสามัคคี ปิดทองหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดและห่มผ้าพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุประจำปี2563 พร้อมด้วยนายมนตรี เศรษฐปัญโญ ปลัดอาวุโสอำเภอสทิงพระกล่าวรายงาน ซึ่งมีภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนร่วมกันจัดงานประเพณีประจำท้องถิ่นในครั้งนี้

ประเพณีทอดผ้าป่าสามัคคี ปิดทองหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2498 ในครั้งแรกมีขึ้นเพื่อหารายได้ซ่อมแซมบำรุงวัดและนมัสการสมเด็จเจ้าพะโคะ ซึ่งจัดขึ้น ณ วัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา วัดพะโคะ มีชื่อทางการว่าวัดราชประดิษฐาน เป็นวัดที่มีความสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา และเกี่ยวข้องกับตำนานหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดหรือสมเด็จเจ้าพะโคะ ตามพงศาวดารเมื่อพัทลุงกล่าวว่า วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2057 ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เคยถูกโจรสลัดมาลายูยกทัพมาปล้น 2 ครั้ง เผาผลาญทำลายพระมาลิดเจดีย์ วิหารพระพุทธบาท และศาสนสถานอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ต่อมาพระราชมุณีสามีราม หรือสมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดได้บูรณะพระมาลิดเจดีย์ สูงขึ้นกว่าเดิม โดยได้รับพระราชทานยอดพระเจดีย์เบญจะโลหะยาว 3 วา 2 คืบ มาจากกรุงศรีอยุธยา สมเด็จเจ้าพะโคะจึงได้มีความสำคัญต่อวัดนี้มาก จนได้มีอนุสาวรีย์ ปางธุดงค์จาริกของท่านไว้เคารพสักการะ โบราณสถานสำคัญของวัดพะโคะ นอกจากพระมาลิกเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุแล้ว ก็ยังมีพระพุทธไสยาสน์ ฝีมือช่างท้องถิ่น เรียกว่า พระโคตะมะ หรือพะโคะ ประดิษฐานในพระวิหารด้านทิศเหนือของเจดีย์ กับมีโบราณสถานโบราณวัตถุล้ำค่าอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ วัดพะโคะยังเคยเป็นสถานที่กระทำพิธี “ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” ของเมืองพัทลุง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งบริเวณดังกล่าวเคยพบโบราณวัตถุทางศาสนาพราหมณ์ และพุทธฝ่ายมหายาน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 เป็นจำนวนมาก และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติจากกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2528 ความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดนั้นมีมาแต่โบราณเกิดจากการเล่าขานต่อกันมาถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ทวด หรือหลวงพ่อทวด ซึ่งเป็นภิกษุที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการพระราชทานที่กัลปนาแก่หัวเมืองพะโคะในสมัยพระเอกาทศรถ มีอิทธิปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้า จนได้สมัญญาว่า “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด”

ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ.2544 พระครูปุญญาพิศาล รองเจ้าคณะอำเภอสทิงพระ เจ้าอาวาสวัดพะโคะองค์ปัจจุบัน ได้พิจารณาเห็นว่าภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ” พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ” จึงดำริให้มีพิธีห่มผ้า”พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ”อีกพิธีหนึ่งด้วย เรียกรวมกันว่า ประเพณีทอดผ้าป่าสามัคคี ปิดทองหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดและห่มผ้าพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ และได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จนเป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญของชาวบ้านพะโคะและชาวสทิงพระโดยตลอดมา

ซึ่งถีอกำหนดเอาวันพฤหัสบดีแรกของเดือนยี่ข้างแรมเป็นวันจัดงานและสำหรับกิจกรรมในการจัดงาน มีด้วยกัน 2วัน คือ วันแรกของการจัดงานซึ่งตรงกับวันพุธ มีกิจกรรมปิดทองหลวงปู่ทวด สมโภชผ้าป่า การแสดงหนังตะลุง ส่วนวันที่ 2 ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีคือการกำหนดให้มีพิธีห่มผ้า”พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ”และพิธีทอดผ้าป่า จนได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน