ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลลงพื้นที่ติดตามมาตรการ 3 ON ก่อนเปิดภาคเรียนใน จชต.

ตามที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและกำหนดมาตรการต่างๆ จนทำให้สถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2563 จากเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนกรกฎาคม 2563 นั้น แม้ปัจจุบันได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ยังอยู่ในห้วงการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่กลับมาระบาดระลอก 2 จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่นเด็กที่อยู่ในวัยเรียนที่กำลังจะกลับเข้าสู่สถานศึกษา ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงได้สั่งการให้ทุกสถานศึกษา เตรียมมาตรการต่างๆ ทั้งตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการเองก็ได้กำหนดมาตรการขึ้นมาเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนในครั้งนี้

สำหรับมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการประกอบด้วยมาตรการหลัก 3 มาตรการ หรือมาตรการ 3 ON คือ 1 Onsite Education (ประเมินสถานการณ์เพื่อจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน) 2 On-air Education (การเรียนรู้ผ่านโทรทัศน์) และ 3 Online Education (การเรียนออนไลน์ผ่านสื่อดิจิทัล) ทั้งนี้ ให้พิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสม
ตามบริบท และความพร้อมของผู้เรียน และสถานศึกษา

ในส่วนของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ที่ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดขายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ติดตามความพร้อมของการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อเตรียมลงพื้นที่ โดย พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.วาทิต มีสนุ่น ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดขายแดนภาคใต้ ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุม จากนั้นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลพร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ระหว่างวันที่ 27 – 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อรับทราบแผนการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนของแต่ละจังหวัด

ผลจากการลงพื้นที่ทราบว่า สถานศึกษาแต่ละจังหวัดมีความพร้อมที่จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 เดือนกรกฎาคมนี้ โดยส่วนใหญ่พร้อมจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (Onsite Education) ทั้งนี้ได้เตรียมมาตรการต่างๆ ตามที่กำหนดเช่น มีการคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย นักเรียนและครูจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา จัดให้มีบริการเจลแอลกอฮอล์ และจุดล้างมือภายในสถานศึกษาอย่างเพียงพอ มีการเว้นระยะห่างระหว่างนักเรียน และครูผู้สอน ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ภายในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ และลดความแออัด งดจัดกรรมที่มีการรวมตัวกัน และอื่น ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ยังได้ให้คำแนะนำให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดทำแผนสำรองเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น หากพบการแพร่ระบาดระลอกสอง เป็น 2 แผน คือ 1 แผนการจัดการเรียนการสอนขณะที่เปิดเรียนแล้วแต่นักเรียนไม่สามารถมาโรงเรียนได้ตามปกติ และ 2 เมื่อเปิดเรียนแล้วพบว่ามีนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้งยังได้แสดงความห่วงใยถึงโรงเรียนประชารัฐ และโรงเรียนสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำ ซึ่งนักเรียนในโครงการเป็นนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและ นอกจากนี้โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ยังได้สำรวจเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการดำเนินการตามมาตรการ On-air Education (การเรียนรู้ผ่านโทรทัศน์) และ Online Education (การเรียนออนไลน์ผ่านสื่อดิจิทัล) ต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงได้ให้ไว้ว่า “โรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้”