วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

มรภ.สงขลา บูรณาการหลักสูตรสาธารณสุขฯ พัฒนาสุขภาวะชุมชนเกาะยอ

มรภ.สงขลา บูรณาการงานสอนหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต แปลงทฤษฎีสู่การปฏิบัติ นำนักศึกษาลงพื้นที่ ต.เกาะยอ ค้นหาโจทย์วิจัยควบคู่พัฒนานวัตกรรมสาธารณสุขชุมชน เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาชีพ

ดร.วรพล หนูนุ่น ประธานหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางหลักสูตรฯ จัดโครงการบูรณาการงานสอนกับงานบริการวิชาการในชุมชนท้องถิ่น ครั้งที่ 1 ณ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านสวนเรียน และ รพ.สต.บ้านท่าไทร ซึ่งเป็นการบูรณาการงานสอนกับงานบริการวิชาการในชุมชนท้องถิ่น เพื่อฝึกฝนให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1-4 ของทางหลักสูตรฯ รวม 344 คน แปลงทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง ภายใต้กรอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ทั้งยังเป็นโอกาสในการค้นหาโจทย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางสาธารณสุขชุมชน ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากการทำงานจริง ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาชีพระหว่างหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

ดร.วรพล กล่าวว่า โครงการที่จัดขึ้นเป็นการบูรณาการองค์ความรู้เรื่องการศึกษาสุขภาวะชุมชน และการพัฒนาสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทวัฒนธรรมภาคใต้ ตามแผนพัฒนาสุขภาพ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ประเทศไทย 4.0) ให้เข้ากับรายวิชาต่างๆ ของหลักสูตรฯ โดยจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่พึงประสงค์ อาทิ ปฏิบัติการทำแผนที่เดินดิน การเยี่ยมบ้าน/เยี่ยมครอบครัว การประเมินสุขภาวะทุกกลุ่มวัยในหมู่บ้านของ รพ.สต.บ้านสวนเรียน และหมู่บ้านของ รพ.สต.บ้านท่าไทร กิจกรรมสรุปผลข้อมูลสุขภาพ และเวทีคืนข้อมูลสุขภาวะกลับสู่ชุมชน ด้วยการออกปฏิบัติการจริงในสถานที่และเหตุการณ์จริง เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและมีทิศทางที่ถูกต้องไปในรูปแบบเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อนักศึกษาและคนในท้องถิ่น