วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

รองนายกรัฐมนตรี เร่งผลักดันการค้าชายแดนไทย-มาเล กระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนใต้ ด้าน ศอ.บต.​ขานรับพร้อมติดตาม​ประสานงานขับเคลื่อนงานทุกภาคส่วน

ในการเดินทางมาตรวจราชการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ที่จังหวัดนราธิวาส ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู​ หัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่เข้าร่วม

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้สั่งการให้ ศอ.บต.​ ซึ่งเป็นเจ้าภาพ​ ในการกำกับและติดตาม​โครงการที่สำคัญๆ ใน 11 โครงการ​ พร้อมขานรับในการขับเคลื่อนงานและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน​ เพื่อให้โครงการเดินหน้าอย่างต่อเนื่องตามเป้าประสงค์ เช่น การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2 และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยัง เปิงกาลันกูโบร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งสะพานข้ามแม่น้ำ สุไหงโก-ลก ทั้ง 2 แห่ง จะเป็นการส่งเสริมการค้าชายแดนให้เกิดขึ้น และเป็นไปตามคำเรียกร้องของคนในพื้นที่

การเร่งรัดการสร้างแพขนานยนต์ลำใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวก ในการเดินทางข้ามพรมแดน ระหว่าง ตาบา อ.ตากใบ กับ เปิงกาลันกูโบร์ ประเทศ มาเลเซีย ที่ตั้งงบประมาณไว้แล้ว 39 ล้านบาท โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส และอยู่ในความควบคุมของ ศอ.บต. ซึ่งจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2563 เพื่อทำให้เกิดความสะดวก ในการข้ามแดน ของพี่น้องประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

ในเรื่องของพิธีการผ่านแดน พิธีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ของด่านพรมแดน ศอ.บต. ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการหาแนวทางลดขั้นตอนของเอกสาร สำหรับยานพาหนะ ที่ต้องกรอกเอกสาร ทั้งของศุลกากร และของตรวจคนเข้าเมือง ซึ่ง จะทำการลดขั้นตอนให้เหลือเพียงขั้นตอนเดียว โดยจากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าสามารถทำได้

ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ทรัพยากรภาคใต้มีพร้อมทุกอย่าง ประชาชนมีวิถีชีวิตแบบสังคมพหุวัตนธรรม เป็นพื้นที่มีศักยภาพสูง สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ วันนี้ทุกภาคส่วนกำลังเดินหน้าควบคู่กัน สิ่งสำคัญคือการพัฒนาเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างความเท่าเทียมหยุดการเหลื่อมล้ำ รัฐบาลเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเริ่มที่จะเร่งดึงดูดการลงทุนเพราะรากฐานอย่างเดียวไม่เกิดการพัฒนาศักยภาพ ผลผลิตการเกษตรต่อไปจะลำบาก รายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ จึงได้เร่งในเรื่องการดึงดูดการลงทุน โดยการผลักดันโครงการ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ให้เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สงขลา ถือเป็นมิติที่ดีในการที่จะให้คนรุ่นใหม่และคนในพื้นที่สามารถจะเดินคู่ไปกับภาครัฐ และสิ่งสำคัญคือการพัฒนาการเปลี่ยนผ่านทุกอย่างต้องรับฟังความเห็นของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ

ทั้งนี้​ ศอ.บต.​ ได้รับคำสั่งให้เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการอีก1​ โครงการ​ คือโครงการเมืองยางพารา หรือ รับเบอร์ซิตี้ โดยบริษัทมิชลิน ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในการรับซื้อยางพารา ต้องการซื้อน้ำยางสด 1 แสนตัน ในปี 2563 แต่ขอให้นิคมอุตสาหกรรมช่วยเหลือสนับสนุนการก่อสร้างบำบัดน้ำเสีย​ เชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของสวนยาง ได้รับประโยชน์จากโครงการและถือว่าจะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

ส่วนปัญหาของด่านบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งเปิดมานานแต่มีความไม่พร้อมของฝั่งไทย ซึ่งมี 7 หน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ ยังไม่มีความพร้อม ทาง ศอ.บต. ได้รับการมอบหมายให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการเชิญหน่วยงานทั้งหมด ที่มีปัญหามาประชุมเพื่อหาทางออก ในการพัฒนาด่านพรมแดน บูเก๊ะตา ให้มีความพร้อม และเป็นประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่า สำหรับการค้าชายแดน และการท่องเที่ยว