วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

หลักสูตรสาธารณสุขฯ มรภ.สงขลา ตั้งศูนย์เผยแพร่ความรู้รับมือ COVID-19 เปิด War Room ให้คำปรึกษาทางวิชาการ ลดแชร์ข้อมูลผิดๆ ทางออนไลน์

หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต มรภ.สงขลา ก่อตั้งหน่วยบริการให้คำปรึกษาและเผยแพร่ความรู้วิกฤติการณ์โรค COVID-19 ดึงนักศึกษาเปิด War Room ร่วมใช้ความรู้ทางวิชาชีพ บูรณาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามสถานการณ์จริง

ดร.วรพล หนูนุ่น ประธานหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ทางหลักสูตรฯ ได้ก่อตั้งหน่วยบริการให้คำปรึกษาและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้องต่อสังคม ในวิกฤติการณ์โรค (COVID-19 War Room) เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจากเป็นหลักสูตรทางวิชาชีพที่จัดการเรียนการสอนตามกรอบ มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ที่ให้กระทำการเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน ควบคุมโรค การตรวจประเมินและบำบัดโรคเบื้องต้น การดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การฟื้นฟูสภาพ การอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยในชุมชน โดยนําหลักวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่หลักสูตรฯ จะได้บูรณาการให้เข้ากับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามสถานการณ์จริง ในขณะที่ประชาชนต้องการทราบข้อมูลความจริงท่ามกลางกระแสข่าวต่างๆ ที่ทำให้ตื่นกลัว รวมถึงบางส่วนอาจไม่เข้าใจวิธีการป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

ดร.วรพล กล่าวว่า ขอขอบคุณ ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ที่ลงนามอนุมัติในคำสั่งฯ และอนุญาตให้ใช้ห้อง 8-301 เพื่อเปิดทำการเป็นหน่วยบริการให้คำปรึกษาและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการที่ถูกต้องต่อสังคม ผ่านช่องทางที่หลากหลาย และต้องขอขอบคุณคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการที่ปรึกษา และคณะกรรมการดำเนินงาน ทุกท่าน เราจะร่วมด้วยช่วยกันทำงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (International Health Regulations: IHR 2005) และขอบเขตตามตามกรอบวิชาชีพที่ระบุไว้ใน มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 อย่างมุ่งมั่นต่อไป เพื่อทำหน้าที่ของสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาตนได้เผยแพร่ความรู้เป็นตอนๆ ผ่านทางเพจ facebook หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยดำเนินงานร่วมกับคณาจารย์ ที่ปรึกษาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และ นักศึกษาของทางหลักสูตรฯ ร่วมถ่ายทอดข้อมูลการปฏิบัติตนในการป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 ผ่านทาง YouTube Chanel อีกช่องทางหนึ่งด้วย