Khawchawbannews

ข่าวการศึกษา => ข่าวการศึกษา => ข้อความที่เริ่มโดย: system man ที่ กรกฎาคม 29, 2018, 04:56:02 PM

หัวข้อ: เจ้าหญิงนักประวัติศาสตร์ เยือนเมืองเก่าอาจารย์ มรภ.สงขลา เล่าเรื่องราว ‘ศาลเจ้า
เริ่มหัวข้อโดย: system man ที่ กรกฎาคม 29, 2018, 04:56:02 PM
เจ้าหญิงนักประวัติศาสตร์ เยือนเมืองเก่าอาจารย์ มรภ.สงขลา เล่าเรื่องราว ‘ศาลเจ้าพ่อกวนอู’

(http://www.khawchawbannews.com/board/index.php?action=dlattach;topic=410.0;attach=1955;image)
 

                “คุณสิริกิติยา เจนเซน” เจ้าหญิงนักประวัติศาสตร์ เยือนเมืองเก่าสงขลา เยี่ยมชมสถาปัตยกรรม อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ฯ ราชภัฏ จับมือนักวิชาการสถาบันอุดมศึกษา ถ่ายทอดเรื่องราวชาวบ่อยาง-ศาลเจ้าพ่อกวนอู เชื่อมโยงความเชื่อชาวจีนโพ้นทะเล   

               
(https://scontent.fbkk1-3.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/37974595_928504910689502_5147867072780304384_n.jpg?_nc_fx=fbkk1-3&_nc_cat=0&oh=7e6f838917cf0a313aab095daa335201&oe=5C051BD3)

              เมื่อเร็วๆ นี้ (วันที่ 23-25 กรกฎาคม 2561) คุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พร้อมด้วยคณะข้าราชการกรมศิลปากรและสมาชิกสมาคมอิโคโมสไทย เดินทางเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมืองเก่าสงขลาบ่อยาง สงขลาหัวเขาแดง สงขลาแหลมสน และเกาะยอ ซึ่งมีศิลปะสถาปัตยกรรมอันเป็นที่ตั้งชุมชนของชาวสงขลา ที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลามและเชื้อสายจีนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยเยี่ยมชมจิตรกรรมฝาผนัง พระประธาน สถาปัตยกรรม พระอุโบสถ โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัดมัชฌิมาวาส และมัสยิดอุสาสนอิสลาม รวมทั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ศาลเจ้าพ่อกวนอู และร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่เมืองเก่าสงขลาบ่อยาง อ.เมือง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนร่วมต้อนรับ

(https://scontent.fbkk1-4.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/38007924_928505104022816_7133877826104590336_o.jpg?_nc_fx=fbkk1-3&_nc_cat=0&oh=90031b12b2c08b0695ff8570a994c5d8&oe=5BC9C485)

                ในการนี้ อ.วสิน ทับวงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ และอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อมัคคุเทศก์และการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานฯ ให้ทำหน้าที่บรรยายเกี่ยวกับศาลเจ้าพ่อกวนอู เมืองสงขลา เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ ตลอดจนความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวสงขลาบ่อยาง

(https://scontent.fbkk1-2.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/37942464_928504904022836_7372745301309784064_n.jpg?_nc_fx=fbkk1-3&_nc_cat=0&oh=fe1b8d2edd37675450d5237f759848f0&oe=5BD99C0B)

                อ.วสิน กล่าวว่า ศาลเจ้าพ่อกวนอูเชื่อมโยงความเชื่อของคนจีน โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมีอยู่มากในเมืองสงขลาตั้งแต่ยุคสงขลาแหลมสน (ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ธนบุรี ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 3) ฝั่งสิงหนคร จนย้ายศูนย์กลางข้ามฟากทะเลสาบสงขลา มาอยู่ที่ฝั่งสงขลาบ่อยาง (รัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2385 / ค.ศ. 1842) และเจ้าเมืองสงขลาทั้งสองยุคที่เป็นต้นตระกูล ณ สงขลา เป็นจีนฮกเกี้ยน ซึ่งภูมิหลังของชาวจีนฮกเกี้ยนเป็นกลุ่มคนจีนที่ทำการค้าและแล่นเรือสำเภาสินค้ารอนแรมไปมายังบ้านเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย้อนหลังได้ถึงพันปี

(https://scontent.fbkk1-3.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/37944218_928504917356168_4021731264858947584_n.jpg?_nc_fx=fbkk1-3&_nc_cat=0&oh=87a9f2b0ce6a0d0de6158bbdcd9ca9cf&oe=5BD350F8)

                เจ้าพ่อกวนอูโดดเด่นด้านความซื่อสัตย์ ตรงกับคุณธรรมที่บรรดาพ่อค้าวาณิชจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ยึดถือ นอกจากผู้ทำการค้าจะต้องมีคุณธรรมความซื่อสัตย์เป็นแกนแล้ว ผู้ค้าเองก็ต้องการลูกค้าที่ซื่อสัตย์ และในเวลาต่อมาลูกหลานจีนส่วนหนึ่งสานต่อการดำเนินธุรกิจจากบรรพบุรุษ อีกส่วนหนึ่งรับราชการ คุณธรรมความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงานเป็นสิ่งจำเป็น และผู้ที่จะเจริญเติบโตในราชการได้จำเป็นจะต้องเป็นคนดีซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้น ผู้ที่จะสอบเข้ารับราชการ หรือผู้ที่มีลูกหลานรับราชการจึงนิยมมากราบไหว้ขอพรจากเจ้าพ่อกวนอูที่ศาลแห่งนี้ ควบคู่กับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา 

                นอกจาก อ.วสิน แล้ว โอกาสเดียวกันนี้ อ.สุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาจีน โปรแกรมวิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานฯ ให้เป็นผู้อ่านและแปลภาษิตคำสอนจีนที่ปรากฏอยู่ในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ควบคู่กับการอธิบายข้อมูลทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมความเชื่อ ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา โดย ผศ.ศรุตม์ เพชรสกุลวงศ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พร้อมด้วยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ รวมถึงคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ตลอดจนภาคเอกชนในพื้นที่ ภาคประชาสังคม ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

                ทุกภาคส่วนร่วมกันทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นในสถานที่สำคัญ ตลอดจนโบราณสถานในเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง สิงหนคร และเกาะยอ  นับเป็นการประสานความร่วมมือของนักวิชาการจากภาคสถาบันอุดมศึกษาใน จ.สงขลา กับการทำนุบำรุงและส่งเสริมการพัฒนาอรรถประโยชน์จากศิลปวัฒนธรรมของเมืองสงขลา ในมิติการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตามเป้าหมายและแผนแม่บทสงขลาสู่เมืองมรดกโลก