ศูนย์ข่าวชาวบ้านนิวส์
Khawchawbannews

กสท เขตใต้ จัดกิจกรรม CAT CSR Digital Come Together เปิดตัวโครงการ CAT Smart Far

กสท เขตใต้ จัดกิจกรรม CAT CSR Digital Come Together เปิดตัวโครงการ CAT Smart Farm ณ ฟาร์มสุข อ.เมือง จ.สงขลา


              กิจกรรม CAT Digital come Together ในโครงการ  CAT Smart Farm นั้น เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม มีความสอดคล้องตามนโยบาย CSR ขององค์กร ในเรื่องการมุ่งเน้นการใช้ศักยภาพ ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ไปพัฒนาสังคมร่วมกัน โดยนโยบายภาครัฐมีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อให้รองรับแรงงานภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง CAT จึงมีแนวคิดในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริมศักยภาพ  ดังนั้น ทางสำนักงานบริการลูกค้า กสท เขตใต้ ร่วมกับอาจารย์และบุคลากรจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการขอข้อมูลเพื่อส่งมอบความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมสำหรับช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรโดยการอบรมและมอบเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยุคใหม่  เพื่อให้เกษตรกรไทยมีการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจดั้งเดิมและรากฐานของคนส่วนใหญ่ การประยุกต์นำเทคโนโลยีดิจิทัล IoT ถ่ายทอดและช่วยให้เกษตรทั้งแบบเดิมและรุ่นใหม่สามารถนำไปใช้ในการช่วยสร้างรายได้ เพิ่มผลผลิตและลดค่าใช้จ่ายในการเกษตร เป็นการยกระดับศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี


              และในวันที่ 5 ตุลาคม 2561 นางสาวสุรพีร์ สมรูป ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริการลูกค้า กสทเขตใต้ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน“CAT Digital come Together ในโครงการ  CAT Smart Farm ” ซึ่งจัดขึ้น ณ ฟาร์มสุขฟาร์ม อ.เมือง จ.สงขลา โดยมีนางจุฑาวรรณ อุ้มชู เจ้าของ”ฟาร์มสุข” ให้การต้อนรับ สำหรับการอบรมที่ผ่านมา มีการรับสมัครเกษตรกรรุ่นใหม่หรือกลุ่ม Young Smart Farmer ในพื้นที่ จ.สงขลา จำนวน 20 คน เป็นกลุ่มเป้าหมายในการเข้าร่วมโครงการอบรมฯ โดยมีการอบรมการใช้งานอุปกรณ์ IoT แบบเข้มข้น เช่น ระบบเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ระบบตรวจความชื้น ซึ่งจะใช้ IoT มาตรวจสอบแทนคนผ่านแอปพลิเคชั่นบน smart phone โดยเครื่องมือ IoT นี้มีความแม่นยำ เก็บข้อมูลได้ สามารถวางแผนการผลิต ลดความเสี่ยง ลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพเกษตรกร ทางคณะวิทยากรได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 10 ราย เพื่อรับอุปกรณ์ IoT ของ CAT ไปใช้งานที่สวนหรือฟาร์มต้นแบบ และประเมินผลการใช้งานจริงต่อไป


               สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ทางคณะทำงานได้คัดเลือก ฟาร์มสุขฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มต้นแบบในการใช้อุปกรณ์ IoT และสามารถใช้งานเพื่อเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง ยั่งยืน

               
               กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง CAT และคณะอาจารย์ บุคลากร เจ้าหน้าที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเกษตรกรรุ่นใหม่