ศูนย์ข่าวชาวบ้านนิวส์
Khawchawbannews

มรภ.สงขลา สร้างโลมาสีน้ำเงิน ประติมากรรมร่วมสมัยโชว์งานมหกรรมศิลปะ ‘ไทยแลนด์เบีย

มรภ.สงขลา สร้างโลมาสีน้ำเงิน ประติมากรรมร่วมสมัยโชว์งานมหกรรมศิลปะ ‘ไทยแลนด์เบียนนาเล่’ ที่กระบี่



                อาจารย์ มรภ.สงขลา ปลื้ม ผลงานประติมากรรมร่วมสมัย “โลมาสีน้ำเงิน” สะท้อนวิถีชีวิตถิ่นใต้ ได้รับเลือกไปจัดแสดงในงานถนนประติมากรรม : จากพื้นถิ่นสู่นานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ จ.กระบี่


                ผศ.ไชยวุธ โกศล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผลงานประติมากรรมร่วมสมัยสะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิตถิ่นใต้ ที่ชื่อ “โลมาสีน้ำเงิน” ซึ่งทำด้วยเหล็ก ขนาด130x220x273 ซม. จัดทำโดย อาจารย์จุฑารัตน์ บุตรเผียน ประจำโปรแกรมวิชาศิลปกรรม มรภ.สงขลา ได้รับคัดเลือกให้ไปจัดแสดงในโครงการถนนประติมากรรม : จากพื้นถิ่นสู่นานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ (Thailand Biennale, Krabi 2018) ระหว่างวันที่ 2 พ.ย.- 28 ก.พ. ณ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของ จ.กระบี่ อาทิ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา เกาะปอดะ อ่าวไร่เลย์ เขาขนาบน้ำ อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและการเสวนาศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน ร่วมกับผลงานประติมากรรมร่วมสมัยอื่นๆ โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้จัดประกวดแบบจำลองและภาพสเก็ตซ์ผลงานประติมากรรมร่วมสมัย และส่งหนังสือเชิญ อาจารย์จุฑารัตน์ ร่วมส่งแบบจำลองและภาพสเก็ตซ์นำเสนอต่อคณะกรรมการตัดสินของโครงการฯ ผลปรากฏว่าผลงานของอาจารย์จุฑารัตน์ ผ่านการคัดเลือกและได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 100,000 บาท สำหรับสร้างสรรค์ผลงานโลมาสีน้ำเงิน   


                ผศ.ไชยวุธ กล่าวว่า โครงการถนนประติมากรรมฯ เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผ่านศิลปะร่วมสมัยในทุกสาขา ส่งผลให้แต่ละจังหวัดที่เป็นเมืองศิลปะมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนั้น ยังสร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้สนใจงานศิลปะร่วมสมัยทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้เดินทางเข้ามาร่วมชมการสร้างสรรค์ผลงาน ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาและยกระดับงานศิลปะร่วมสมัยสู่ระดับนานาชาติ สร้างรายได้จากต้นทุนและทรัพยากรทางศิลปวัฒนธรรม และการแข่งขันอย่างยั่งยืน และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองนโยบายการใช้มิติทางด้านศิลปวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนโยบายประเทศไทย 4.0