ศูนย์ข่าวชาวบ้านนิวส์
Khawchawbannews

มรภ. สงขลา นำทีมมหา’ลัยเครือข่าย ร่วมพัฒนาระบบการสอน ร.ร. ตชด.

มรภ. สงขลา นำทีมมหา’ลัยเครือข่าย ร่วมพัฒนาระบบการสอน ร.ร. ตชด.



                มรภ.สงขลา ผนึกมหาวิทยาลัยเครือข่าย ม.ทักษิณ มทร.ศรีวิชัย มอ. ม. หาดใหญ่ ร่วมพัฒนาระบบการเรียนการสอน ร.ร. ตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งเป้าเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สร้างโอกาสทางการศึกษา


               ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนพัฒนาชาติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยมีพระราชประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านและโรงเรียนในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จ.สงขลา จึงมีนโยบายขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ร.ร.ตชด.) และชุมชนโดยรอบ โดยให้มหาวิทยาลัย 5 แห่งคือ มรภ.สงขลา ม.ทักษิณ มอ. มทร.ศรีวิชัย และ ม.หาดใหญ่ เป็นหน่วยงานพัฒนาระบบการเรียนการสอนของ ร.ร.ตชด. ใน จ.สงขลา



               ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2559 นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา (ในขณะนั้น) มีแนวคิดให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมพลังเป็นเครือข่ายในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้แก่ ร.ร.ตชด. ใน จ.สงขลา รวม 10 แห่ง คือ ร.ร.ตชด. บ้านทุ่งสบายใจ ร.ร.ตชด.บ้านบาโรย ร.ร.ตชด.สื่อมวลชนกีฬา ร.ร.ตชด.บ้านชายควน อ.สะเดา ร.ร.ตชด. บ้านประกอบออก ร.ร.ตชด.เชิญ พิศลยบุตร อ.นาทวี ร.ร.ตชด.พลเอกนวล-คุณหญิงบานชื่น จันทร์ตรี ร.ร.ตชด.บ้านหาดทราย ร.ร.ตชด.บ้านสำนักเอาะ และ ร.ร.ตชด.มหาราช 1 อ.สะบ้าย้อย ในปีงบประมาณ 2560 คณะทำงานเครือข่าย 5 มหาวิทยาลัย จึงดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ร.ร.ตชด. โดยจัดอบรม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้


ได้แก่ ภาษาไทย สุขศึกษาและพลศึกษา ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้แก่ครูในโรงเรียนดังกล่าว


               ด้าน ดร.มนตรี เด่นดวง คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า ทางคณะทำงาน 5 เครือข่ายมหาวิทยาลัย ได้จัดโครงการนิเทศติดตามครู ร.ร.ตชด. ทั้ง 10 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก จ.สงขลา ในการติดตามผลการอบรมว่าครูที่เข้าอบรมนำความรู้และทักษะการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดทำสื่อต่างๆ ไปใช้สู่ชั้นเรียนได้อย่างไร ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และความต้องการของครูผู้สอน โดย มรภ.สงขลา รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สุขศึกษาและพลศึกษา ม.ทักษิณ รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) และวิทยาศาสตร์ มอ. รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ม.หาดใหญ่ รับผิดชอบกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม


               ดร.มนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการนิเทศตามพบว่าจุดแข็งคือครูให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมและมีความรับผิดชอบในอาชีพครู แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้จบตรงกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สอน แต่ก็มีความใฝ่รู้ ศึกษาหาวิธีการสอนและทำสื่อการสอน ทั้งยังมีความอดทน ตั้งใจ และมีวินัย สามารถเขียนแผนการเรียนรู้โดยกำหนดกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สำคัญ (ความคิดรวบยอด) ได้ถูกต้องและครอบคลุม นอกจากนั้น ยังสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนมีส่วนร่วมตลอดเวลา โดยกระตุ้นให้คิดและรู้จักกระบวนการคิด มีกิจกรรมกลุ่มให้ฝึกการเรียนรู้และทำงานร่วมกัน นักเรียนเรียนอย่างสนุกและมีความสุข ส่วนนักเรียนก็มีสัมมาคารวะ และให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมของโรงเรียนเป็นอย่างดี


               สำหรับจุดที่ควรพัฒนาคือ มีครูไม่เพียงพอต่อการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ จึงทำให้ครูที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ต้องรับผิดชอบสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย รับผิดชอบสอนคนละ 2-3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และครูมีการโยกย้ายประจำทุกปีทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง และไม่ได้นำผลการอบรมไปใช้ ครูบางคนไม่ได้สำเร็จการศึกษาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาที่สอนโดยตรง ทำให้ขาดทักษะการถ่ายทอดเนื้อหากลุ่มสาระการเรียนรู้ไปสู่ผู้เรียน และต้องรับผิดชอบสอนหลายวิชาและรับภาระหน้าที่อื่นนอกเหนือจากการสอน เช่น ดูแลรับผิดชอบอาคารสถานที่ งานก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น


               “นักเรียนจำนวนหนึ่งอ่านหนังสือไม่คล่อง เขียนไม่ค่อยได้ ทั้งระดับประถมศึกษาต้อนต้นและตอนปลาย ทั้งยังขาดเรียนหรือย้ายถิ่นฐานบ่อย เพราะต้องย้ายตามผู้ปกครอง บางคนไม่มีเวลาทบทวนหรือทำการบ้านวิชาที่เรียนตามหลักสูตรของ ร.ร.ตชด. เนื่องจากมีภารกิจวันเสาร์อาทิตย์ต้องเรียนหนังสือที่โรงเรียนสอนศาสนา ในขณะที่บางคนไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ครูสอน จึงทำให้การจัดกิจกรรมกลุ่มล่าช้า ทั้งนี้ ควรสนับสนุนให้ ร.ร.ตชด. ใน จ.สงขลา มีศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอน อาทิ ทักษะด้านเนื้อหา เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อประกอบการเรียนการสอน เป็นต้น และครูเสนอแนะว่าควรลดการจัดอบรม เปลี่ยนเป็นการให้ครูไปทัศนศึกษาการจัดการเรียนการสอน เพื่อเปิดโลกทัศน์และเห็นการปฏิบัติการสอนที่ได้ผลจริง ณ สถานศึกษาต่างๆ” คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าว