ศูนย์ข่าวชาวบ้านนิวส์
Khawchawbannews

อาจารย์ มรภ.สงขลา คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาวิศวกรรมศาสตร์

อาจารย์ มรภ.สงขลา คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาวิศวกรรมศาสตร์



          “ชัยยุทธ มีงาม” อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2561 สาขาวิศวกรรมศาสตร์ รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  ในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 5”




            เมื่อเร็วๆ นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี มอบโล่รางวัลพระราชทานแก่นักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2561 ในงานประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 5 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในการนี้ นายชัยยุทธ มีงาม อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาวิศวกรรมศาสตร์ โดยรางวัลดังกล่าวคัดเลือกจากนักวิจัยที่อุทิศตนให้แก่การวิจัยอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี และเป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และมีประโยชน์ต่อชุมชนในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างแท้จริง



            อาจารย์ชัยยุทธ กล่าวว่า ผลงานวิจัยตลอดระยะเวลา 5 ปี ตนเน้นการทำงานที่สามารถตอบโจทย์จากการใช้ศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานวิจัย ซึ่งผลงานวิจัยมีทั้งที่ตีพิมพ์ในระดับชาติและนานาชาติ อาทิ อิทธิพลของความเร็วรอบที่ส่งผลต่อสมบัติทางกลของการเชื่อมอะลูมิเนียมต่างชนิด ระหว่าง SSM7075 กับ SSM356 ด้วยการเชื่อมเสียดทาน อิทธิพลของความเร็วรอบและระยะกดอัดที่ส่งผลต่อการเชื่อมเสียดทานของอะลูมิเนียมหล่อกึ่งของแข็ง SSM 6061 เทคนิคการเชื่อมซ่อมพอกผิวเพลาในเพลาขับระบบส่งกำลังในเครื่องจักรกลที่เหมาะสม ลดต้นทุนการซ่อม เป็นต้น ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีที่มาจากการมองเห็นปัญหาการชำรุดของเพลาในอุตสาหกรรมยางพาราในภาคใต้มีเป็นจำนวนมาก โดยเป็นการสึกกร่อนที่ผิว เพราะสภาพการกัดกร่อนจากกรดซัลฟิวริกอุตสาหกรรมยางพารา จึงส่งเพลาซ่อมด้วยการพ่นพอกผิว (Thermal Spay) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและมีความล่าช้าในการซ่อม ตนจึงศึกษาวิธีการซ่อมที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและได้ผลการเชื่อมที่ดีด้วย




              อาจารย์ชัยยุทธ กล่าวอีกว่า การทำงานวิจัยเป็นการคิดค้นคว้าและทดลองด้วยตรรกะทางความคิดอย่างมีเหตุมีผล เป็นลำดับขั้นตอน สามารถนำความคิดที่ตกผลึกไปแก้ปัญหาหรือต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้น การทำวิจัยจึงเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ องค์ความรู้หรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยเป็นผลลัพธ์ที่จะพัฒนาคนและประเทศได้ ตอบสนองนโยบายของการพัฒนาประเทศไทยแบบ 4.0 ช่วยพัฒนาทั้งกำลังคนและภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน



            “สำหรับรางวัลที่ได้รับมานั้นรู้สึกปลาบปลื้มใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และถือเป็นกำลังใจสำคัญในการที่จะทำงานพัฒนาท้องถิ่นตามศาสตร์พระราชาต่อไป” นักวิจัยดีเด่นสาขาวิศวกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าว