ศูนย์ข่าวชาวบ้านนิวส์
Khawchawbannews

สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา จัดเสวนา “ทวดช้าง” สะท้อนศรัทธา ความเชื่อท้องถิ่น

สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา จัดเสวนา “ทวดช้าง” สะท้อนศรัทธา ความเชื่อท้องถิ่น

               

                สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา จัดเสวนาแลกเปลี่ยนงานวิจัยทวดช้าง สะท้อนความเชื่อทางจิตวิญญาณที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น เชื่อข้อมูลที่เก็บรวบรวมช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ สร้างประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง


                นายโอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการจัดเสวนาทวดช้าง : ความเชื่อทางจิตวิญญาณทวดที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยการสนับสนุนโครงการวิจัยของกระทรวงวัฒนธรรม ณ ห้องประชุมสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า วิทยากรร่วมเสวนานอกเหนือจากตนในฐานะผู้อำนวยการสำนักศิลปะฯ แล้ว ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิจัยวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อาจารย์อำนวย สงนวล อดีตเลขานุการสภาวัฒนธรรม จ.สงขลา และ ผศ.ดร.ศศลักษณ์ ทองขาว หัวหน้าโครงการวิจัย เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเนื้อหาเสวนาประกอบด้วย ความเชื่อทวดที่มีอำนาจและอิทธิพลทางความคิด เช่น ทวดงู ทวดเสือ ทวดช้าง ที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น ในกรณีศึกษาเรื่องทวดพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง และ ตรัง เพื่อศึกษาตำนานและรูปแบบทางความเชื่อเกี่ยวกับทวด รวมถึงอิทธิพลของทวดที่มีต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น และการกระจายตัวของอิทธิพลของทวดรูปสัตว์ต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว


                นายโอภาส กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับท้องถิ่นและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวดสำคัญที่อยู่ในพื้นที่ คือ “ทวดช้าง” ซึ่งเป็นที่มาของความเชื่อชุมชน ต.เขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา ความเชื่อในเรื่องทวดถือเป็นความเชื่อเก่าแก่ เป็นรากของบรรพชนและของผู้คนที่นี่อันแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนและปัจเจกชนของผู้คนที่นี่อย่างเด่นชัด นอกจากนี้ รูปแบบของความเชื่อดังกล่าวยังช่วยหล่อหลอมจิตวิญญาณ รวมถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของผู้คนในย่านนี้เข้าด้วยกัน ความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับทวดจึงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นของผู้คนในย่านสงขลา พัทลุง และ ตรัง เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าว สำนักศิลปะฯ จึงสนใจที่จะศึกษาในเรื่องดังกล่าว ภายใต้โครงการทุนอุดหนุนการวิจัย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2561


              ด้าน นายกมลนาวิน อินทนูจิตร รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ผู้ประสานงานโครงการเสวนาทวดช้าง กล่าวว่า นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม โดยพื้นฐานตามความเป็นจริงแล้วรูปแบบของวัฒนธรรมดั้งเดิมอันเป็นพื้นของวิถีความคิดของกลุ่มคนในท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ทั้งให้คุณประโยชน์และให้โทษ สำหรับบริบทของสังคมไทยมีความเชื่อที่หลากหลาย ทั้งพิธีกรรมตามประเพณี ธรรมเนียมและรูปแบบการปฏิบัติที่แปลกแตกต่างกัน ซึ่งความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนกำลังใจ ช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวัง มีเป้าหมาย และตั้งอยู่บนรากฐานของสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งผลการเสวนาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านตำนานและความเชื่อที่เป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับปรับใช้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ และผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลต่อไปในอนาคต


                 ขณะที่ ผศ.ดร.ศศลักษณ์ ทองขาว หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานมีการเสวนาประกอบการบรรยายทางวิชาการ เรื่อง ระบบความเชื่อกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม พรมแดนแห่งความรู้การวิจัยวัฒนธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย รศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข ประวัติของทวดช้าง อิทธิพลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น นายโอภาส อิสโม ความเชื่อของทวดช้างที่มีอิทธิพลต่อคนในพื้นที่ โดย อาจารย์อำนวย สงนวล นอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับทวด จากบุคลากรทั้งในและภายนอกหน่วยงาน อาทิ ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงวิเศษ อดีตอธิการบดี มรภ.สงขลา ดร.บรรจง ทองสร้าง อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และ นายธีรศักดิ์ ชูเพ็ง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติพิธี กระทรวงวัฒนธรรม ที่เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของทวดช้าง ความเกี่ยวโยงของความเชื่อทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นภาคใต้