ศูนย์ข่าวชาวบ้านนิวส์
Khawchawbannews

กระทรวงศึกษาธิการ หนุน “บริหารธุรกิจ” จับมือเอกชน ส่งเสริมทักษะชีวิต อาชีพ

กระทรวงศึกษาธิการ หนุน “บริหารธุรกิจ” จับมือเอกชน ส่งเสริมทักษะชีวิต อาชีพ มีคุณธรรม ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี


              พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ.2557 รัฐบาลโดยการนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ได้ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษรวม 10 จังหวัดอยู่รอบชายแดนประเทศไทย และต่อมาประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ โดยพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ โดยการสนับสนุนจาก รศ.ดร.บรรพต วิรุณราช อดีตคณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา พันเอก ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร และคณะอาจารย์ ดำเนินการวิจัยค้นหาความเหมาะสมว่า นักเรียนผู้ปกครองจะเข้าใจ เข้าถึง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ได้อย่างไร



               ผลจากการวิจัยพบว่านักเรียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ จะต้องเรียนวิชาบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในจำนวน 14 วิชา 78 บทเรียน 1,051 ชั่วโมง ทั้งนี้สามารถเรียนเป็นวิชาเสริม เพิ่มเติม หรือสร้างเป็นกิจกรรมประกอบการเรียน หรือตั้งเป็นชมรมก็ได้ ซึ่งในปี พ.ศ. 2561 โรงเรียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเริ่มนำไปใช้ และมีการฝึกอบรมครูเพื่อให้เป็นผู้สอนในวิชาบริหารธุรกิจ ไปแล้วกว่า 300 คนด้วย เพราะครูส่วนใหญ่ไม่ได้จบทางด้านบริหารธุรกิจจึงต้องฝึกอบรมครูก่อน เมื่อเจาะลึกไปถึง 14 วิชาทางด้านบริหารธุรกิจนี้ จะเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการผลิต การบริการ การเงิน การบัญชี การตลาด การขาย การจัดการคน กฎหมายธุรกิจ และการจัดการเครือข่าย กลยุทธ์ทางธุรกิจ เน้นการสอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ครบระบบธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า หรือเรียกว่าระบบ Value Chain ประกอบด้วย ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ


               สุดท้ายของวิชาบริหารธุรกิจจะต้องมีผลิตภัณฑ์ของนักเรียน และต้องสามารถขายได้จริง ซึ่งในประเด็นนี้มีบริษัทเอกชนเข้ามาสนับสนุนจำนวนมาก เช่น โครงการทำมาค้าขาย จากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนมีผลิตภัณฑ์อาจจะเป็นของใช้ หรือของกิน จากนั้นแนะนำให้ครูจัดทำกระบวนการทางธุรกิจเพื่อนำไปสอน และแนะนำนักเรียนในระบบ Value Chain ครบระบบซึ่งในโครงการทำมาค้าขายนี้ ปัจจุบันมีการอบรมครู 300 คน เพื่อสอนในวิชาบริหารธุรกิจ ซึ่งได้เริ่มสอนกันแล้วมา 2 ปี เมื่อมาถึงระดับนักเรียนอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนและมีกลไกให้นักเรียนอาชีวะคิดผลิตภัณฑ์ให้มีนวัตกรรม โดยนำเข้าไปจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาซื้อชิ้นงานนวัตกรรมของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะไปใช้ประโยชน์ ในธุรกิจ หรือในการทำงานจริง และในระดับอาชีวศึกษามีศูนย์ฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นจำนวนมากกว่า 100 แห่ง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 17, 2019, 04:52:11 AM โดย system man »