ศูนย์ข่าวชาวบ้านนิวส์
Khawchawbannews

“ชัยเดช” ศิษย์เก่า มรภ.สงขลา เชิดชู ป๋าเปรม วีรบุรุษคนดีในดวงใจเล่าเรื่องราว

“ชัยเดช” ศิษย์เก่า มรภ.สงขลา เชิดชู ป๋าเปรม วีรบุรุษคนดีในดวงใจเล่าเรื่องราวสุดซาบซึ้ง จาก นศ.ทุน สู่ผู้ได้รับนามสกุล “เครือเปรม”



“ชัยเดช” ศิษย์เก่าดนตรีไทย มรภ.สงขลา เชิดชูเกียรติพลเอก เปรม วีรบุรุษคนดีในดวงใจ เผยเรื่องราวความประทับใจ จากจุดเริ่มต้นนักศึกษาทุนมูลนิธิฯ สู่ผู้ได้รับนามสกุล “เครือเปรม”


                นายชัยเดช เครือเปรม (ชื่อ-สกุลเดิม อภิเชษฐ์ เครือจันทร์) ศิษย์เก่าศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ปัจจุบันประกอบอาชีพข้าราชการครู โรงเรียนบ้านนาใหญ่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2553 เขาเข้าเป็นนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ต่อมาในปี พ.ศ.2554 ทางมหาวิทยาลัยคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้ารับทุนมูลนิธิพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ตัวเขาจึงสมัครและได้รับพิจารณาคัดเลือกเป็นหนึ่งในนักศึกษาทุนของทางมูลนิธิฯ ซึ่งทำให้เขามีโอกาสร่วมต้อนรับและส่งป๋าเปรม ที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ เมื่อครั้งเดินทางมาปฏิบัติภารกิจ ณ จ.สงขลา และได้รับโอกาสไปต้อนรับที่บ้านติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้รู้จักและได้ใกล้ชิดกับประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษของเมืองไทย


                นายชัยเดช กล่าวว่า ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงวิเศษ อธิการบดี มรภ.สงขลา ในขณะนั้น และประธานมูลนิธิพลเอก เปรมฯ ได้กราบเรียนเชิญป๋าเปรม มาแสดงปาฐกถาให้นักศึกษาฟังในหัวข้อหนทางที่ควรไป และได้สอนถึงการทำความดีของคนดีโดยยกหลักคำสอนสัปปุริสธรรม 7 คือ การเป็นผู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล ส่วนครั้งที่สองป๋ามาปาฐกถาเรื่องการทำความดีและการรักษาความดี ป๋าสอนว่าการทำความดีนั้นทำยาก แต่การรักษาความดีนั้นยากกว่า ซึ่งในครั้งนี้เองเขาได้รับคัดเลือกจาก ผศ.นิตยา ธัญญพาณิชย์ รองอธิการบดี มรภ.สงขลา ในขณะนั้น และรองประธานมูลนิธิฯ ผู้อยู่เบื้องหลังในการสนับสนุนส่งเสริมให้นักศึกษาทำความดีตามแบบป๋า และได้ให้เขาเป็นตัวแทนนักศึกษา ขึ้นกล่าวรายงานการทำความดี เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำความดี


                 ทั้งนี้ จากการได้มีโอกาสติดตามป๋าไปปฏิบัติภารกิจ ทำให้ได้เห็นคุณธรรมที่ปรากฏในทุกที่คือ ความเมตตา ป๋ามีเมตตาต่อเด็กๆ ทุกคน มีครั้งหนึ่งป๋าเดินทางไปค่ายเยาวชนรักษ์พงไพรบ้านโตนงาช้าง เมื่อไปถึงมีเด็กนักเรียนผู้หญิงกล่าวรายงานกิจกรรมให้ป๋าฟัง แต่ด้วยความประหม่าตื่นเต้นทำให้รายงานติดๆ ขัดๆ และหยุดชะงักไป ผู้ใหญ่หลายท่านลุ้นเอาใจช่วยนักเรียนไปตามๆ กัน ท่ามกลางอากาศและแสงแดดที่ร้อน แต่เมื่อหันไปมองใบหน้าของป๋า ท่านมองดูเด็กคนที่รายงานด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเปี่ยมด้วยเมตตา ป๋ายืนฟังจนนักเรียนรายงานและร้องเพลงจนจบ ปรบมือและชวนพูดคุยให้กำลังใจเด็กๆ นับเป็นเมตตาจากหัวใจของท่านจริงๆ ท่านจดจำชื่อคนและทักทายได้อย่างแม่นยำ และมักสอบถามความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้นอย่างใส่ใจทุกรายละเอียด


               อีกเรื่องที่ได้สัมผัสคือความจงรักภักดี ครั้งหนึ่งตัวเขามีโอกาสได้เข้าพบป๋า และในเย็นวันนั้นท่านกำลังดูโทรทัศน์อยู่ เมื่อเพลงชาติไทยดังขึ้น ป๋าก็ลุกขึ้นยืนตรงหันหน้าไปทางห้องพระ ซึ่งมีรูปหล่อเคารพของสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ประดิษฐานอยู่ เมื่อเพลงจบท่านโค้งคำนับและนั่งตามเดิม ซึ่งหลายคนๆ เมื่ออยู่ในบ้านอันเป็นที่รโหฐาน น้อยคนนักที่จะลุกขึ้นยืนตรง และในขณะนั้นได้มีการเปิดเพลงในหลวงของแผ่นดินต่อจากเพลงชาติไทย ท่านฟังด้วยความตั้งใจและพูดว่า “เพลงนี้คนไทยต้องร้องให้เป็น พระองค์ท่านมีบุญคุณมาก” ครั้งหนึ่งเขาได้สนทนากับป๋า แต่เผลอพูดชื่อพระนามแบบสั้นๆ ป๋าบอกว่า “ต้องเรียกให้ถูกต้อง ให้สมพระเกียรติ” แล้วป๋าก็เอ่ยพระนามที่ถูกต้องให้ฟัง เรื่องบางเรื่องในบางครั้งเราอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นไร แต่สำหรับป๋าแล้วการถวายความจงรักภักดีคือสิ่งที่สำคัญสูงสุด ดังคำสอนและการปฏิบัติเป็นแบบอย่างประจักษ์ต่อสายตาคนไทยเสมอมา


                ความประทับใจอีกอย่างคือ ทุกๆ คำสอนของป๋าจะเน้นแต่เรื่องการทำดี การเป็นคนดีของชาติบ้านเมือง ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ป๋าสอนว่า การทำความดีต้องมีต้นแบบ สำหรับต้นแบบความดีของท่านคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าป๋าเปรมก็เป็นต้นแบบคนดีและความดีของใครอีกหลายๆ คน รวมถึงตัวเขาด้วย เขารู้สึกโชคดีที่สุดในชีวิตที่ได้ใกล้ชิดกับคนดีของแผ่นดิน และมองว่า แม่ทัพอัศวินย่อมสอนเพลงดาบ คนดีย่อมสร้างคนดีและสอนให้คนทำความดี สำหรับตัวเขาแล้วเชื่อมั่นศรัทธา และยกท่านเป็นวีรบุรุษในดวงใจ นอกจากคำสอนของท่านแล้ว ระยะเวลาได้พิสูจน์ถึงคุณงามความดีที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างมาตลอดชั่วชีวิต ดังที่ท่านเคยปาฐกถาตอนหนึ่งไว้ว่า “การทำความดี สิ่งสำคัญของการกระทำความดี มันไม่จบอยู่แค่นั้น มันต้องต่อด้วยกับการรักษาความดีนั้นให้อยู่กับตัวเรา ไปจนตาย”


ท่ามกลางข่าวลือต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ท่านสอนสั้นๆ ว่า “ไม่เป็นไร ให้ทำหน้าที่ของเราไป” “การวิจารณ์เป็นเรื่องของเขา หน้าที่ของเราทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน” ท่านไม่ได้ใส่ใจสิ่งเหล่านั้น คิดเป็นห่วงแต่ชาติบ้านเมือง การพัฒนาเด็กและเยาวชนในที่ต่างๆ ให้เป็นคนดี และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บ้างก็สนับสนุนทุนการศึกษา ดังจะเห็นได้จากทุนการศึกษามูลนิธิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่กระจายเกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ สิ่งนี้คือความตั้งใจของท่าน และแม้แต่ในโอกาสสุดท้ายของชีวิต ท่านยังห่วงใยคนจน ห่วงใยชาติบ้านเมือง ดังที่มีข่าวประกาศต่อสาธารณชนว่า ท่านได้มอบทรัพย์สินเงินเก็บของท่านทั้งหมดเพื่อประชาชน


                “ท่านอนุญาตให้ผมเรียกว่าปู่ วันหนึ่งปู่เปรมเขียนจดหมายส่งมามีข้อความว่า เชษฐ์ จงจำไว้ตลอดชีวิตว่า เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน นี่คือสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับเด็กชนบทอย่างผม นอกจากนั้น ปู่ยังให้ความเมตตาสนับสนุนทุนการศึกษาปริญญาโท ต่อมาเมื่อผมเรียนจบจึงได้อุปสมบท ท่านได้มอบผ้าไตรจีวรให้ นับเป็นมงคลยิ่ง ที่สำคัญ ปู่เมตตาตั้งนามสกุลเครือเปรม ให้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559 นับเป็นมรดกแห่งความดีอันสูงค่า เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชีวิตของตัวเองและครอบครัว ได้ก้าวเดินตามแบบอย่างคุณธรรมความดีที่ท่านได้สอนไว้ ซึ่งชื่อสกุลเครือเปรมท่านให้ความหมายว่า เชื้อสายสกุลของพลเอก เปรม สำหรับผมแล้ว ป๋าคือศรัทธา คือวีรบุรุษคนดีในดวงใจ ท่านจะสอนเสมอว่าเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และผมจะจดจำไว้ชั่วชีวิต” นายชัยเดช กล่าว