วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

ม.ทักษิณ เปิดเวทีสร้างเครือข่ายชูมวยไทยเมืองลุง: พลังเครือข่ายแบบมีส่วนร่วมและการจัดการทุนวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

 เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมคณะทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพและการกีฬา คณะศึกษาศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม สถาบันวิจัยและนวัตกรรม ปักธงชูมวยไทยเมืองลุงร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดพัทลุง วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง สภาวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง เทศบาลเมืองพัทลุง เทศบาลตำบลอ่างทอง ผู้ประกอบการค่ายมวยจังหวัดพัทลุง และครูมวย  ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังสภาพปัญหาและสถานการณ์ของมวยไทยในจังหวัดพัทลุง พร้อมทั้งวางแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน ณ ห้องประชุมทานตะวัน SC1218 คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

 “มวยไทย” ซึ่งเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นอันก่อเกิดจากการหลอมรวมและความหลากหลายจนกลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่เกิดจากวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั้งคนในระดับชาติและนานาชาติ โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนในชาติเกิดความตระหนักในคุณค่า และยกย่ององค์ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย เนื่องด้วยมวยไทยเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

 สำหรับมวยไทยในจังหวัดพัทลุงถือเป็นศิลปะป้องกันที่มีมนต์เสน่ห์สืบสานประวัติอย่างยาวนาน เอกลักษณ์ของมวยไทยเมืองลุง จากข้อมูลผู้ที่อยู่ในแวดวงมวยไทยพัทลุงสมัยก่อน จะมีนักมวยเจ้าของฉายา งูเหลือมหัวโต (เด่นธรณีน้อย เลือดทักษิณ) ใบเพชร ลูกเจ้าแม่สายวารี จนมาถึงขุนพินิจ เกียรติตะวัน ทั้งสามคนจะมีรูปแบบการชกคือเป็น มวยเข่าที่รัดแน่น เนื่องจากพัทลุงมีเทือกเขาบรรทัด และมีความเชื่อว่ามวยไทยรูปแบบดังกล่าวเป็นศาสตร์ที่มาจากครูมวยไทยบนเทือกเขาบรรทัด ที่เอาศาสตร์ของการรัดของงูเหลือมบนเทือกเขาที่รัดเหยื่อให้แน่นและทำให้เหยื่อตายในที่สุด ดังนั้นจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การรัดเอวคู่ต่อสู้ให้แน่นแล้วตีเข่า และมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน คือ จับ เลื่อย รัด ฟัด ทุ่ม ขณะเดียวกันท่าไหว้ครู และท่าต่อสู้ของมวยไทยเมืองลุงก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากจังหวัดพัทลุงเป็นต้นกำเนิดมโนราห์ ซึ่งเป็นวัฒนาธรรมดั้งเดิมในพื้นถิ่น จึงได้มีการสอดประสานท่าร่ายรำของมโนราห์มาประยุกต์ใช้เป็นท่าไหว้ครู และท่าต่อสู้ของมวยไทยเมืองลุง ได้แก่ ท่าเทพพนม (ท่าปฐมบทของมวยเมืองลุง) ท่าเขาควาย ท่าร้อยมาลา ท่านกยูงฟ้อนหาง ท่าพระสุธนฟันม่าน ท่าพรานบุญด้อมโนรา ท่าโนราเล่นหาง และท่างูเหลือมเมืองลุง

นอกจากนี้ปี่มวยไทยเมืองลุงก็มีเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างไปจากปี่มวยภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลาง ปี่มวยไทยพัทลุงจะเป็นเพลงที่ไพเราะ เป็นเอกลักษณ์คล้ายกับเครื่องดนตรีบรรเลงเพลงมโนรา หนังตะลุง ซึ่งจะมีความครึกครื้นมากกว่าที่อื่น มวยไทยเมืองลุงยังคงมีกระแสความนิยมเป็นอย่างดีและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่ถือว่าเป็นระดับซุปเปอร์สตาร์ของวงการมวยไทยเป็นคนจังหวัดพัทลุง ได้แก่ ซุปเปอร์บอน ลูกเจ้าแม่สายวารี และรถถัง จิตรเมืองนนท์ 

การดำรงอยู่ของทุนทางวัฒนธรรมมวยไทยเมืองลุงจะสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของสังคมไทยและเป็นทุนสำคัญที่ส่งเสริมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นรวมทั้งการสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อเป็นกีฬาที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ไทยสู่กลุ่มเยาวชนจึงจำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนแบบองคาพยพ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยทักษิณซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง จะเป็นพื้นที่กลางที่เชื่อมร้อยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหลักที่เกี่ยวข้องในการจัดการทุนทางวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วม และสำนึกรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นรวมถึงเสริมพลัง (Empowerment) การเกาะเกี่ยวทางสังคมระหว่างคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ และสำนึกท้องถิ่นบนฐานทุนวัฒนธรรม