วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

ม.อ.ลงนามบันทึก MOU ร่วมกับบริษัทชาร์แมช คอสเมด จำกัด พัฒนางานวิจัย นวัตกรรมที่มีคุณค่า ให้เศรษฐกิจของประเทศ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จับมือกับบริษัทเจสซี่มัม จำกัด และบริษัทชาร์แมช คอสเมด จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเซ็น MOU พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า พร้อมส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศ เติบโตอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ (รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชิตชไม โอวาทฬารพร นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อศึกษาการยกระดับงานนวัตกรรมสู่อุตสาหกรรม (Innovation To Industries, ITI) คุณสรรเสริญ จตุรภัทร และคุณเดือนเพ็ญ ปรีชานุรักษ์ ตัวแทนจาก บริษัท เจสซี่มัม จำกัด และคุณชัญญ์ธนันท์ คณานุรักษ์ บริษัท ชาร์แมช คอสเมด จำกัด (ผู้ผลิต) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจได้จริงและสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ณ.ห้องประชุม 215 ชั้น 2 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ) หาดใหญ่

ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติด้วยงานวิจัย โดยหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของเราชาว ม.อ. นั่นคือสร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการและนวัตกรรม โดยมีงานวิจัยเป็นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ของเรามีความพร้อม ทั้งการวิจัยในหลอดทดลอง การศึกษาฤทธิ์สารสำคัญ การทดสอบประสิทธิภาพ อีกทั้งเรายังมีความพร้อมด้านกำลังคน และภาคีเครือข่ายที่จะสามารถผลักดันให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้จริง

“การดำเนินงานเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีภาคีความร่วมมือ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่มีบริษัทเอกชนที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญโดยการผลักดันผลิตภัณฑ์ที่มีงานวิจัยเป็นพื้นฐาน ซึ่งไม่เพียงสามารถสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่งในท้องตลาด แต่ยังเป็นการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าออกสู่สังคมได้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานจะสามารถบรรลุตามความประสงค์ที่วางไว้ด้วยความราบรื่น” ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ กล่าว

โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ผ่านการสนับสนุนทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ที่จะให้การสนับสนุนด้านคำปรึกษาทางวิชาการ ซึ่งในฝั่งของบริษัทนั้น จะมีบทบาทในการสนับสนุนให้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญของบริษัท ร่วมศึกษา ค้นคว้า และทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จ อันส่งผลทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของทุกฝ่ายต่อไป