วันอาทิตย์, 28 เมษายน 2567

การขับเคลื่อนสร้างผู้ประกอบการโดยนวัตกรรม Innovation-Driven Entrepreneurship

สำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จัดโครงการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมและยกระดับผู้ประกอบการ ภายใต้โครงการการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมสู่การยกระดับศักยภาพธุรกิจรูปแบบใหม่ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โปรแกรม 25 แผนงานย่อยพัฒนาระบบและกลไกสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศ ววน. แผนงานย่อยรายประเด็น “แผนงานพัฒนาระบบ ววน. ในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมณ โรงแรม ศิวา รอยัล พัทลุง ระหว่างวันที่ 28 – 29 ตุลาคม 2566

วันที่ 28 ตุลาคม 2566 รองศาสตราจารย์วรพงค์ บุญช่วยแทน ผู้อำนวยการสำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า โครงการนี้ได้ดำเนินการยกระดับผลิตภัณฑ์และส่งเสริมผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมภายใต้แนวทาง “การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (Innovation-Driven Entrepreneurship)” การดำเนินโครงการไม่ใช่แค่เพียงการผลักดันจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เราดำเนินด้วยกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย สถานประกอบการ และนักวิจัย ซึ่งมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในขับเคลื่อนผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรม หรือใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจรูปแบบใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเริ่มจากการมีความคิดหรือไอเดียในการผลิตสินค้า หรือบริการที่ผู้บริโภคต้องการอย่างแท้จริง รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยพัฒนาสินค้าก่อนนำเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า “โครงการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมและยกระดับผู้ประกอบการ” จัดขึ้นโดยมุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถศักยภาพของผู้ประกอบการในการพัฒนายกระดับสถานประกอบการด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม และเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัย และผู้ประกอบการ เพื่อสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ ด้วยการสร้างสรรค์วิธีการดำเนินงานธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่นำผลสำเร็จของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product) หรือนวัตกรรมการผลิต (Process) ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้กิจกรรมภายในโครงการดังกล่าวประกอบด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการการเขียนแผนธุรกิจนวัตกรรม Business Model Canvas การอบรมแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Product Design) การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การออกแบบและพัฒนาตราสินค้า (Branding) การอบรมแนวคิดการทำธุรกิจผุ้ประกอบการนวัตกรรม และการอบรมเชิงปฏิบัติการรูปแบบการตลาดธุรกิจนวัตกรรม (Marketing Management) ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs : Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises) โดยใช้องค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญต่าง ๆ กัน ตามศักยภาพบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยใช้หลักคิด “1 ผู้ประกอบการต่อ 1 การพัฒนา” ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาที่ตรงจุด แก้ตรงปัญหา และสามารถดำเนินการได้จริงโดยใช้นวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ เทคนิคการผลิต กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์ การตลาด เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อการยกระดับให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เศรษฐกิจท้องถิ่นและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่มูลค่า และประเทศไทยมีระบบนิเวศที่สนับสนุนการค้าการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรม ผ่านการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ ในแต่ละภาคธุรกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยมีระบบนิเวศในการประกอบธุรกิจที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในแต่ละประเภทและสาขาธุรกิจ