วันศุกร์, 18 กรกฎาคม 2568

คณะติดตามผลการดำเนินโครงการพระราชทาน โคก หนอง นา ข้าราชบริพารหน่วยราชการในพระองค์ ณ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 1000 น. พันเอก วาทยุทธ ชูช่วย เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 42 เป็นผู้แทน พลตรี ปกรณ์ จันทรโชตะ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ให้การต้อนรับ พลตรี กัลย์สรรค์ จันทรเสน ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ระดับ 10 และคณะศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา ข้าราชบริพารหน่วยราชการในพระองค์” ณ ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยมี นายสังคม เกิดก่อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายกฤชณัทท พลรัตน์ นายอำเภออำเภอระโนด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนจิตอาสา ร่วมต้อนรับและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาพื้นที่

พลตรี กัลย์สรรค์ จันทรเสน ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ระดับ 10 กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในเขตอำเภอระโนด ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำ เนื่องจากระบบระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงปัญหาน้ำทะเลหนุน พระองค์จึงพระราชทานแนวทางให้หน่วยงานในพระองค์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หลังน้ำลด พร้อมวางแนวทางป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว และ เพื่อติดตามแผนการดำเนินงานในตำบลพังยาง โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นพื้นที่เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำและการเกษตรอย่างยั่งยืน และเป็นแบบอย่างในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีความมั่นคงทางอาหารและรายได้ พร้อมสร้างชุมชนที่เปี่ยมไปด้วยน้ำใจ

นายสังคม เกิดก่อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าว่า จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการบูรณาการจากทุกภาคส่วน   จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพื้นที่ 4 อำเภอคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา พ.ศ.2568-2570 ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาทั้ง 3 น้ำ ประกอบด้วย น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเค็ม ผ่าน 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่ การเตรียมเครื่องมือให้เหมาะสมกับพื้นที่การลงพื้นที่สำรวจปัญหาอย่างแท้จริง การศึกษาประวัติศาสตร์และลักษณะพื้นที่ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม อีกทั้งรวบรวมแผนงาน โครงการ ในการป้องกันและแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 4 อำเภอคาบสมุทรสทิงพระ  จากส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพื้นที่ 4 อำเภอคาบสมุทรสทิงพระ ให้มีความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ และจัดทำมาตรการในการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและลดความเสี่ยง แนวทางการจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูผู้ประสบภัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้กับประชาชนในพื้นที่     เสี่ยงภัยได้เตรียมความพร้อมและรับทราบสถานการณ์ สามารถป้องกันตนเองจากสาธารณภัยได้ทันต่อเหตุการณ์ ลดการสูญเสียด้านชีวิต และทรัพย์สิน ภายใต้กรอบภารกิจและกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง