วันอังคาร, 16 เมษายน 2567

คณะเกษตร มรภ.สงขลา ให้ความรู้เพาะพันธุ์ปลาดุกลูกผสมบิ๊กลำพัน เพิ่มรายได้เกษตรกรรุ่นใหม่-แหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ ต.เขามีเกียรติ อ.สะเดา ถ่ายทอดความรู้การเพาะพันธุ์ การอนุบาล และการเลี้ยงปลาดุกลูกผสมบิ๊กลำพัน ปลาดุกสายพันธุ์ใหม่ เสริมสร้างรายได้เกษตรกรรุ่นใหม่ พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น

ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา)  เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผศ.ณิศา มาชู อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการ นำทีมคณาจารย์ของทางคณะฯ ซึ่งประกอบด้วย รศ.นฤมล อัศวเกศมณี ผศ.สบาย ตันไทย อาจารย์วิจิตรา ตุ้งซี่ อาจารย์ศรัณย์ รักษาพราหมณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และนักศึกษาสาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ลงพื้นที่บริการวิชาการ ต.เขามีเกียรติ อ.สะเดา จ.สงขลา อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเพาะพันธุ์ การอนุบาล และการจัดการการเลี้ยงปลาดุกลูกผสมบิ๊กลำพัน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ 3 ภายใต้โครงการการเพาะเลี้ยงปลาดุกลูกผสมบิ๊กลำพัน ปลาดุกสายพันธุ์ใหม่เสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกร และเป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น

 ทั้งนี้ ในการดำเนินงานได้สร้างแหล่งเรียนรู้บ่อเพาะพันธุ์ และอนุบาลปลาดุกลูกผสมบิ๊กลำพันในพื้นที่เกษตรกร ณ บ้านประธานกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กลำพัน นายพิพัฒน์ อรุณลิ่มสวัสดิ์ (71 ม.4 ต. เขามีเกียรติ อ.สะเดา จ.สงขลา) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาชิกกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กลำพันอย่างดียิ่ง โดยเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความเข้มแข็ง และมีความตั้งใจในการทำงาน มีโอกาสพัฒนางาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ตนเองและชุมชนได้ตามเป้าหมายของโครงการ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้เจ้าของศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไทยบ้านภูริตาสงขลา & สมาชิก และนักวิชาการจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เขต 12 (สงขลา) ให้ความสนใจเข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้ด้วย

ด้าน ผศ.ณิศา มาชู หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ปลาดุกบิ๊กลำพันเป็นปลาดุกชนิดใหม่ที่ได้จากการวิจัย โดยใช้กรรมวิธีผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแม่ปลาดุกลำพันกับพ่อปลาดุกเทศ เป็นปลาที่มีความอดทนสูง สามารถเลี้ยงในน้ำที่มีคุณภาพต่ำได้ ปัจจุบันปลาดุกลำพันในธรรมชาติที่มีแหล่งอาศัยในพื้นที่ป่าพรุมีจำนวนลดน้อยลงมาก ทั้งยังหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ตนจึงนำพ่อแม่พันธุ์ปลาดุกลำพันมาเลี้ยงในสภาพน้ำจืดทั่วไป และนำมาเพาะขยายพันธุ์ให้อัตราการผสมติดและฟักเป็นตัว ซึ่งปลาดุกลูกผสมมีลักษณะเด่นคือ ลำตัวยาว มีลายสีขาวบนลำตัวในแนวขวางเหมือนแม่คือปลาดุกลำพัน สวยงามและน่าสนใจ มีการเจริญเติบโตที่ดีคล้ายพ่อคือปลาดุกเทศ และกินอาหารสำเร็จรูปได้ดี