วันศุกร์, 17 พฤษภาคม 2567

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จับมือคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ช่วย ต.เกาะแต้ว สร้างตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์จากอัตลักษณ์ท้องถิ่น

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จับมือคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมสร้างตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์จากอัตลักษณ์ท้องถิ่น มุ่งยกระดับของดี ต.เกาะแต้ว ให้ได้มาตรฐาน สร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน สร้างความพร้อมต่อยอดสู่ตลาดออนไลน์สากล

ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23-24 ตุลาคม 2564 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมการสร้างตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์จากอัตลักษณ์ท้องถิ่น ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับสินค้าชุมชนให้ได้มาตรฐาน ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนในตำบลเกาะแต้ว ได้แก่ กลุ่มไข่เค็มกะทิสดใบเตย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมัลเบอรี่เชิงเขาเทียมดา กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมพื้นบ้านชุมชนบ้านด่าน และตัวแทนแหล่งเรียนรู้มะพร้าวน้ำหอมครบวงจร โดยมี นายย่าโกบ หละตำ กำนันตำบลเกาะแต้ว เป็นผู้กล่าวเปิดโครงการ

ดร.กันตภณ กล่าวว่า กิจกรรมในวันแรกเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการการออกแบบบรรจุภัณฑ์และสร้างตราสินค้าตามอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์อมรรัตน์ บุญสว่าง อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างตราสินค้า การออกแบบโลโก้ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ พร้อมแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการ 4 กลุ่ม โดยมีทีมงาน U2T เป็นผู้ช่วยในการฝึกปฏิบัติการครั้งนี้ ส่วนกิจกรรมวันที่สองเป็นการฝึกปฏิบัติการถ่ายภาพสินค้า และการใช้เฟสบุ๊คเพื่อส่งเสริมการขายสินค้าชุมชน ซึ่งสมาชิกกลุ่มได้ร่วมกิจกรรมตลอดทั้งวันอย่างสนุกสนาน

ด้าน ผศ.คุลยา ศรีโยม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ในฐานะผู้ดูแลโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงในแผนการพัฒนากลุ่มอาชีพต่าง ๆ ของชุมชนเกาะแต้ว หลังจากนี้ว่า ยังมีกิจกรรมเพื่อยกระดับรายได้ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่ตัวแทนกลุ่มได้รับความรู้ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไปแล้ว จะนำไปต่อยอดในการใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง รวมถึงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สู่ตลาดออนไลน์ที่เป็นตลาดสากลต่อไป

อาจารย์ปราโมทย์ ขับกล่อมส่ง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมัลเบอรี่เชิงเขาเทียมดา กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้จัดได้ดี ตนและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้เกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์และตราสินค้า รวมถึงการถ่ายภาพสินค้าให้โดนใจลูกค้า เพื่อสร้างยอดขายให้กลุ่มต่อไป

อาจารย์วิรุณ เสนรุย ประธานแหล่งเรียนรู้มะพร้าวน้ำหอมครบวงจร กล่าวว่า จากกิจกรรมนี้ตนได้รับความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการออกแบบหีบห่อบรรจุภัณฑ์ และได้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเพิ่มเติมด้วย ในฐานะชาวบ้านที่ขาดทักษะความรู้ในด้านนี้ จึงขอขอบคุณคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และวิทยากร ที่ได้นำความรู้มาให้ชุมชน นำไปใช้ต่อยอดในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับทางกลุ่ม

นางมัฑนา เส็มหมุด ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมพื้นบ้านชุมชนบ้านด่าน กล่าวว่า การได้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการออกแบบหีบห่อสินค้าให้สวยงามดึงดูดใจของลูกค้า การจัดขนมใส่กล่อง การถ่ายภาพ การโพสต์ขายสินค้าเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่ม

ปิดท้ายด้วย นางหวันเหย๊าะ แก้วสุวรรณ ประธานกลุ่มไข่เค็มกะทิสดใบเตย กล่าวว่า กิจกรรมที่ มรภ.สงขลา จัดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นความรู้ใหม่ของกลุ่ม ทำให้สมาชิกในกลุ่มได้รับความรู้สำหรับนำไปปรับใช้ในการสร้างอัตลักษณ์สินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มภายใต้แบรนด์ “ไข่ยิ้ม” ซึ่งสื่อถึงความสุข และจะต่อยอดการพัฒนาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่มต่อไป ผลลัพธ์ที่ได้หลังจัดกิจกรรม คือ ทั้ง 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นตำบลเกาะแต้ว และสามารถสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีภาพประกอบสินค้าที่สวยงาม เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้