
วันที่ 23 มิถุนายน 2568 เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุม สำนักงานจุฬาราชมนตรี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 , รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และ จังหวัดนราธิวาส คือ นาย ฮัจยีศักดิ์ยา บิลแสละ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา, นาย แวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี , นายอับดุลบาซิ เจ๊ะมะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา, นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าพบคารวะ นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี เพื่อขอคำแนะนำในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเข้ารายงานการขับเคลื่อนฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน) 9 ดี ในชุมชน หมู่บ้าน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในการนี้ พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้นำผู้นำศาสนา และข้าราชการระดับสูง แสดงการฏออะห์ต่อ นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี พร้อมเรียนให้ทราบถึงความเป็นมาของการจัดทำเอกสาร การฏออะห์ในครั้งนี้ ก่อนท่านจุฬาราชมนตรีพิจารณาลงนามรับรองเอกสารการฏออะห์ ซึ่งถือเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และได้รับการรับรองจากจุฬาราชมนตรี เน้นให้พี่น้องชาวไทยซึ่งเป็นมวลมนุษยชาติเดียวกัน ทั้งพี่น้องชาวไทยมุสลิม และชาวไทยพุทธ มีความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการฏออะห์ ที่ถูกต้องตามบัญญัติอัลกรุอาน โดยเฉพาะการฏออะห์ต่อท่านจุฬาราชมนตรีในฐานะเป็นผู้นำสูงสุด เป็นประมุขในทางศาสนาตามบัญญัติอัลกุรอาน ของพี่น้องมุสลิมทั้งมวลในประเทศไทย ก่อนการจัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบ “ฉบับคำอ่านเล็ก” ให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านองค์กรในพื้นที่ อีกทั้งปลูกฝังแนวคิดสันติสุขให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่

โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมกับผู้นำศาสนาในพื้นที่สนับสนุนการชูรอจัดทำเอกสารสำคัญ ก่อนการจัดทำเอกสารการฏออะห์ เพื่อให้มีการยึดมั่นปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนาที่บริสุทธิ์ ถูกต้อง เป็นแนวทางหลักในการสร้างจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีสันติสุข อย่างแท้จริง และมั่นคง ถาวร เผยแพร่แก่เยาวขน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย
(1) ยะกีนฉบับชาวบ้าน (กีตาบเล็ก)
(2) ยะกีนฉบับผู้นำ
(3) ฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน) 9 ดี
ทั้งหมดนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้นำศาสนา และชุมชนชาวไทยมุสลิม และชุมชนชาวไทยพุทธในพื้นที่ ที่ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ “การสร้างความสันติสุขอย่างแท้จริง“