วันนี้ (14 กรกฎาคม 2568) นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดงานเมาลิดกลาง จ.ยะลา ครั้งที่ 8 ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1447 และการทดสอบการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมี พลตรี กรกฎ ภู่โชติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วย ผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลัดจังหวัดยะลา ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา นายกสมาคมกอรีแห่งประเทศไทย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา คณะกรรมการจัดงาน ผู้นำศาสนาและส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม
สำหรับการจัดงานเมาลิดกลางจังหวัดยะลา ถือเป็นประเพณีสำคัญทางศาสนาอิสลาม เป็นการเชิดชูคุณงามความดี ความศรัทธา ในเกียรติประวัติของผู้เป็นศาสดา นั้นคือนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล) ซึ่งทำให้มุสลิมได้ตระหนักและระลึกถึงคำสอนอันมีคุณค่าทางศาสนาอิสลาม สามารถนำไปฝึกจิตใจพร้อมทั้งปฏิบัติตามเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความดีงามในจิตใจตนเองและสร้างประโยชน์ให้สังคม

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย กิจกรรมทดสอบการอ่านอัลกุรอาน ระดับ 14 จังหวัดภาคใต้ กิจกรรมทดสอบการท่องจำอัลกุรอาน ระดับ 14 จังหวัดภาคใต้ กิจกรรมพัฒนาคุณภาพและยกย่องเชิดชูเกียรติ ตาดีกา สู่ความเป็นเลิศ (Tadika towards excellence) กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบทบาทมุสลีมะห์สู่ผู้นำชุมชน กิจกรรมเปิดโลกทัศน์ทักษะทางวิชาการโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดยะลา กิจกรรมสัมมนาคณะกรรมการมัสยิดในจังหวัดยะลา กิจกรรมสัมมนาสถาบันศึกษาปอเนาะ กิจกรรมการประกวดอาซูรอระดับจังหวัด กิจกรรมอบรมเยาวชนอัสวาจา
นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้กล่าวชื่นชมคณะกรรมการจัดงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีการพัฒนาขึ้น เห็นถึงศักยภาพการทำงานลักษณะบูรณาการ การทำงานที่ขับเคลื่อนมิติทางศาสนาในการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่แสดงถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น งานเมาลิดถือเป็นงานที่แสดงถึงการให้เกียรติยกย่องท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) ศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม และเพื่อรำลึกถึงหลักธรรมคำสอนของท่านซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต ชาวมุสลิมจะนำแนวทางหลักคำสอนของท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) เป็นแบบอย่างในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อสามารถนำไปสู่ความสำเร็จสูงสุดทั้งโลกนี้และโลกหน้า และอัลกุรอานเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
นอกจากนี้ภายในงาน มีการจัดบูธนิทรรศการมีชีวิตที่แสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สะท้อนวิถีชีวิตมุสลิมมลายู ทั้งด้านการแต่งกาย ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น อันเป็นมรดกสืบทอดกันมาควรแก่การอนุรักษ์ อาทิเช่น นิทรรศการแสดงชีวประวัติของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.), นิทรรศการเรื่องเล่าวิถีชีวิตมลายูตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีพ, นิทรรศการแสดงศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาอัตลักษณ์และอาหารพื้นถิ่นมลายู นอกจากนี้ ยังมีการแสดงการขับร้องอนาชีด การบรรยายธรรม กิจกรรมทั้งภาคกลางวันและกลางคืน และมีการจับรางวัลผู้มาร่วมงานมากมายและรางวัลพิเศษตั๋วเครื่องบินไปประกอบพิธีอุมเราะห์