วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

นักวิจัย ม.ทักษิณ สุดเจ๋ง ยกระดับสินค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง GI อินทรีย์ เกรดพรีเมี่ยม ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ USDA ส่งจำหน่ายตลาดโลก

วันที่ 28 มิถุนายน 2564 มหาวิทยาลัยทักษิณ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นำทีมนักวิจัยประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมด้วยนางสาวเบ็ญจวรรณ บัวขวัญ ผู้ร่วมโครงการวิจัย ทำการส่งมอบฐานข้อมูลงานวิจัยข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงอินทรีย์เกรดพรีเมี่ยม แบรนด์ “ยอดทอง” ที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ USDA เพื่อส่งจำหน่ายประเทศสหรัฐอเมริกาและ ประเทศแคนนาดา ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัย “การยกระดับคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดพัทลุง ด้วยนวัตกรรม” ที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้แก่ นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดพัทลุง ณ ห้องประชุมกาบบัว ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพัทลุง ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พร้อมส่งมอบผลงานวิจัยต่อให้กับสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การยกระดับคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดพัทลุงด้วยนวัตกรรม” ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการกับสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เพื่อพัฒนาระบบ PGS-SPTA (ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม ภายใต้สมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง) ผลผลิตที่ได้ ประกอบด้วย 1. ได้ระบบ PGS-SPTA ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของระบบการตรวจสอบที่บริบทเฉพาะของเมืองพัทลุง โดยใช้ตราสัญญลักษณ์การรับรองคือ PGS-SPTA ORGANIC GI CERTIFICATION 2. ผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงเกรดพรีเมี่ยมแบรนด์ “ยอดทอง” ซึ่งผ่านระบบ PGS-SPTA จึงสามารถได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือเรียกว่ามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ USDA ORGANIC STANDARD ซึ่งเทียบเคียงเท่ากับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ CANANDIAN ORGANIC STANDARD และได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป (GI EU) โดยมีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว จำนวน 12 ราย (จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 389 ราย) 3. ผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงเกรดมาตรฐานแบรนด์ “ชื่อแบรนด์ของเกษตรกร” ซึ่งผ่านระบบ PGS-SPTA จึงสามารถได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย และได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป โดยมีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว จำนวน 96 ราย (จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 389 ราย) 4. คู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาคมฯ ได้แก่ คู่มือสำหรับสมาคมฯ กับการควบคุมคุณภาพการผลิตภายในด้วยระบบ PGS-SPT คู่มือสำหรับผู้ตรวจสอบภายใน กับการควบคุมคุณภาพการผลิตภายในด้วยระบบ PGS-SPTA คู่มือสำหรับผู้ประกอบการแปรรูปข้าว กับการควบคุมคุณภาพการผลิตภายในด้วยระบบ PGS-SPTA คู่มือสำหรับเกษตรกร กับการควบคุมคุณภาพการผลิตภายในด้วยระบบ PGS-SPTA และคู่มือสำหรับกลุ่มเกษตรกร รายงานผลการดำเนินงานของกลุ่ม 5.QR-CODE เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลระบบการผลิตข้าวสังข์หยดของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 108 ราย เพื่อเป็นการตรวจสอบย้อนกลับของผู้บริโภค 6. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ และรายละเอียดเอกสารการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ NOP/USDA จำนวน 2 เล่ม

โดยนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า โครงการวิจัยเรื่อง “การยกระดับคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าข้าวสังข์หยดพัทลุงด้วยนวัตกรรม” มหาวิทยาลัยทักษิณ และสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่ได้ดำเนินการ จนได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ USDA ORGANIC STANDARD มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ CANANDIAN ORGANIC ในระดับสากลนี้ จะเป็นผลนำให้เกิดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อไป