
ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือน พุทธศาสนิกชนจะได้มีโอกาสร่วมสร้างบุญกุศลด้วยการ ถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นโอกาสอันดีที่พี่น้องชาวพุทธได้ฝึกจิตใจให้รู้จักการให้ สร้างสติ และยึดมั่นในหลักธรรม ถือเป็นการเริ่มต้นพรรษาอย่างมีคุณค่า ทั้งต่อตนเองและสังคม
วันนี้ (19 กรกฎาคม 2568) เวลา 09.00 น. ที่ วัดมุจลินทวาปีวิหาร พระอารามหลวง (วัดตุยง) ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พลตรี ฤทธิรณ ศรีภักดี รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีถวายเทียนพรรษา – ผ้าอาบน้ำฝน พร้อมจตุปัจจัย เพื่อเป็นพุทธบูชาแด่วัดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 11 วัด พร้อมด้วย พันเอก อนุชา โนนคู่เขตโขง รองเลขาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมในพิธีครั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา, สืบสานประเพณีอันดีงามของพี่น้องชาวพุทธ และเสริมความเป็นสิริมงคลในห้วงเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2568 ของพี่น้องพุทธศาสนิกชน โดยมี พระสุทธิสมณวัตร เจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ตลอดจนพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมในพิธีด้วยความอบอุ่น

สำหรับกิจกรรมถวายเทียนพรรษา – ผ้าอาบน้ำฝน ของวัดมุจลินทวาปีวิหาร พระอารามหลวง หรือวัดตุยง จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 41 ปี

ด้าน พระสุทธิสมณวัตร เจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร พระอารามหลวง เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2527 จากความตั้งใจของทางวัดที่จะช่วยเหลือศาสนสถานในพื้นที่ห่างไกลที่ยังขาดแคลนเครื่องใช้และสิ่งของจำเป็น ทางวัดจึงได้นำของใช้ภายในวัดไปถวายเป็นการเบื้องต้น

ต่อมา เมื่อพิจารณาเห็นว่ายังมีวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดปัตตานีที่อยู่ในสภาวะเดียวกัน ทางวัดจึงริเริ่มจัดพิธี ถวายเทียนพรรษา – ผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย เพื่อมอบให้แก่วัดต่าง ๆ โดยหมุนเวียนกันปีละประมาณ 10 วัด
สำหรับปี 2568 นี้ วัดที่ได้รับการถวายประกอบด้วย
• วัดอัมพวนาราม
• วัดสุขาวดี
• วัดคามวาสิการาม
• วัดมหิงสุวรรณาราม
• วัดประเวศน์ธรรมคุณ
• วัดมาลีนิเวศน์
• วัดป่าศรี
• วัดปรักปรือ
• วัดป่าแม่ลาน
• วัดโคกหญ้าคา
พิธีถวายเทียนพรรษา – ผ้าอาบน้ำฝนของวัดมุจลินทวาปีวิหาร พระอารามหลวง ไม่เพียงแสดงถึงความห่วงใยต่อวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็งภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ตอกย้ำบทบาทของวัดตุยงในฐานะศูนย์กลางธรรมทานที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป