
ในปัจจุบันความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้นหลายระดับ ทั้งในครอบครัว ชุมชน หรือการประกอบอาชีพ การมีพื้นที่กลางสำหรับการไกล่เกลี่ยหรือการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ และการมีพื้นที่กลางสำหรับการไกล่เกลี่ยนั้น จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะสะท้อนภาพการร่วมใจกันแก้ปัญหาของทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นแนวทางสำคัญของ พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4
วันนี้ (24 กรกฎาคม 2568) เวลา 10.30 น. ที่ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน (ศกช.) ประจำศูนย์สันติวิธี ภายในค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลตรี เฉลิมชัย สุทธินวล ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี เป็นประธานในพิธีเปิดป้าย ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน (ศกช.) ประจำศูนย์สันติวีธี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในการพัฒนา “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ให้มีบทบาทในระดับชุมชนต่อไป โดยมี นายธีรเดช แสงจันทร์ ยุติธรรมจังหวัดปัตตานี, พันโท ประภัทร กุหลาบ ประธานคณะทำงานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ตลอดจนส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีด้วยความอบอุ่น
โอกาสนี้ พลตรี เฉลิมชัย สุทธินวล ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กล่าวว่า “จากสภาพปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องคนไทยทุกคน ที่เน้นความเข้าใจ การให้อภัย และการหาทางออกร่วมกัน มากกว่าการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน (ศกช.) ประจำศูนย์สันติวิธี จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่สร้างความสมานฉันท์โดยเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งศูนย์สันติวิธี สำนักงานยุติธรรมจังหวัดปัตตานี ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และภาคประชาชน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้น เพื่อให้กำลังพล ครอบครัว และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้เข้าถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย และเป็นธรรมกับทุกคน
ซึ่งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน (ศกช.)
ประจำศูนย์สันติวิธีแห่งนี้ เป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยแห่งแรกของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การปฏิบัติงานของทหาร และเชื่อมั่นว่าศูนย์ฯ แห่งนี้จะเป็นพื้นที่กลางที่สร้างคาวมเข้าใจ ส่งเสริมการพูดคุย การปรึกษาหารือ และการสร้างความปรองดองในชุมชน เป็นกลไกสำคัญในการลดภาระของศาล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง”