วันจันทร์, 17 มิถุนายน 2567

มรภ.สงขลา ประกวด “แนวปฏิบัติที่ดี” หนุนถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน สู่การพัฒนายั่งยืน

มรภ.สงขลา จัดประกวดแนวปฏิบัติที่ดี ด้านวิจัยบริการวิชาการ ด้านผลิตบัณฑิต/ด้านการเรียนการสอน และด้านการพัฒนางาน ส่งเสริมอาจารย์-เจ้าหน้าที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน พร้อมจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ ปูทางสู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 งานมาตรฐานและประกันคุณภาพ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการประกวดแนวปฏิบัติที่ดี ประจำปี 2567 ณ ห้องประชุม อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ ได้รับเกียรติจาก ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบรางวัลให้แก่ผู้เข้าประกวด กล่าวรายงานโดย อาจารย์วันฉัตร จารุวรรณโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน คือ รศ.จารุยา ขอพลอยกลาง ผศ.ดร.เธียรชัย พันธ์คง และ นายชนาธิป ลีนิน เป็นคณะกรรมการให้ข้อเสนอแนะแลกเปลี่ยนมุมมอง และร่วมตัดสินการประกวดแนวปฏิบัติที่ดีในครั้งนี้

ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า มรภ.สงขลา ให้ความสำคัญในเรื่องของการค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรภายในมหาวิทยาลัย อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องตามพันธกิจหลักของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องตามตัวชี้วัดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ ฉบับปี 2567-2570 และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) จึงนำมาสู่การจัดโครงการประกวดแนวปฏิบัติที่ดี วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถถ่ายทอดความรู้ นำไปสู่การค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานจัดการความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นระบบและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหน่วยงานอย่างยั่งยืน

สำหรับการประกวดแนวปฏิบัติที่ดีในครั้งนี้ มีหน่วยงานร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 14 ผลงาน ประกอบด้วย
1. ด้านวิจัยบริการวิชาการ มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด จำนวน 3 ผลงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Best Practice ได้แก่ “การพัฒนาผลงานบริการวิชาการสู่งานตีพิมพ์ : Developing academic service work towards publication” โดย ดร.อดิศรา ตันตสุทธิกุล จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร

2.ด้านผลิตบัณฑิต/ด้านการเรียนการสอน มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด จำนวน 4 ผลงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Best Practice ได้แก่ “การสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับนักศึกษาด้านสหกิจศึกษา : Building Competitiveness for Cooperative Education Student” โดย ผศ.ขนิศฐา พันชูกลาง และคณะ จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร

3.ด้านการพัฒนางาน มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด จำนวน 7 ผลงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Best Practice ได้แก่ “การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ผ่านระบบสารสนเทศ ด้วยแนวคิดลีน ECRS (ต่อเนื่องปีที่ 2 ) : Increasing the efficiency of research management of Songkhla Rajabhat University through the information system with Lean ECSRS ( 2 nd Year Continued)” โดย นายธนภัทร เจิมขวัญ จากสถาบันวิจัยและพัฒนา