วันจันทร์, 29 เมษายน 2567

มรภ.สงขลา ผนึก อพท.-4 สถาบันอุดมศึกษาใต้ ลงนามความร่วมมือพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน ขับเคลื่อนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยกระดับเมืองสู่สมาชิกเครือข่ายยูเนสโก

มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือ อพท. ม.ทักษิณ มทร.ศรีวิชัย ม.อ. ม.หาดใหญ่ พัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผนึกกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ควบคู่ยกระดับพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วย ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) นำโดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. และสถาบันอุดมศึกษาในภาคใต้อีก 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ (ม.ทักษิณ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ (ม.หาดใหญ่) ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ แอนด์ สปา สงขลา
ในการร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อบูรณาการความร่วมมือสร้างกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันวิชาการ ชุมชน และ ภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570)

จุดมุ่งหมายของการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) และกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) การร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) และกำหนดบทบาทหน้าที่ร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามใบสมัครของยูเนสโก รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนและกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ครอบคลุมตามแนวทางมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand)

ทั้งนี้ อพท. และสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 5 แห่งจะร่วมกันกำหนดรายละเอียดแผนงานและโครงการตามแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ ภายใต้งบประมาณที่แต่ละฝ่ายได้รับจัดสรรและภารกิจของหน่วยงาน โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษาและบุคลากร สำหรับร่วมดำเนินงานในแต่ละโครงการที่อยู่ในพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เป้าหมายของ อพท. ภายใต้ความเห็นชอบร่วมกัน รวมทั้งร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนรายละเอียดการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใต้บริบทและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงานอีกด้วย

อนึ่ง พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ใน 15 อำเภอของ 3 จังหวัด คือ จ.สงขลา จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันอยู่ในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี มีเป้าหมายยกระดับเมืองที่มีความพร้อมให้เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นำไปสู่การเสนอเข้ารับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Green Destinations Top 100 Stories