วันเสาร์, 4 พฤษภาคม 2567

มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือ สนง.ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่5 ผลิตบัณฑิตมีทักษะวิชาชีพสอดรับความต้องการภาคเกษตร ผลักดันอาจารย์ทำวิจัยตอบโจทย์พื้นที่

มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา จับมือร่วมพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงานในสถานประกอบการ และความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย บริการวิชาการ ผลิตกำลังคนมีศักยภาพทางทักษะวิชาชีพ สอดคล้องความต้องการภาคเกษตร ควบคู่ผลักดันอาจารย์ทำวิจัยตอบโจทย์พื้นที่

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วย ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร เป็นตัวแทน มรภ.สงขลา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา นำโดย นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา นางทัศณี ศุภกุลผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ นางอธิฐาน เรืองแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงานในสถานประกอบการ และความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย บริการวิชาการ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา โดยมีบุคลากรของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา รองคณบดี และคณาจารย์จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ร่วมเป็นสักขีพยาน

รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาอาจารย์ของ มรภ.สงขลา ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และงานวิจัยเหล่านั้นตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น เลิกแล้วงานวิจัยขึ้นหิ้ง แต่ต้องใช้ประโยชน์ได้จริง เรามีการให้รางวัลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่อาจารย์ที่ทำวิจัย และผลักดันให้อาจารย์ขอทุนวิจัยที่ตอบโจทย์เชิงพื้นที่ ทั้งในเรื่องการผลิต การแปรรูป การตลาด ดังจะเห็นได้จากนโยบาย 1 คณะ 1 ตำบล ทำมากกว่านั้นได้ยิ่งดี ซึ่งการดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีคณะเทคโนโลยีการเกษตรเป็นตัวหลักในการพัฒนาท้องถิ่น ร่วมมือกับทุกศาสตร์ในคณะต่าง ๆ ของ มรภ.สงขลา นี่คือสิ่งที่ มรภ.สงขลา ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพราะราชภัฏคือคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. เพื่อประสานความร่วมมือในการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการ ระหว่างการเรียนรู้ในสถานศึกษากับการปฏิบัติงานจริงในสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่5 จังหวัดสงขลา และหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล รวมทั้งพื้นที่ที่รับผิดชอบ ตามสาขาวิชาชีพการจัดการเรียนการสอนด้านสหกิจศึกษา และการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education: CWIE) 2. เพื่อผลิตกำลังคนพัฒนาศักยภาพทางทักษะวิชาชีพ และเสริมสร้างประสบการณ์วิชาชีพ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคการเกษตร 3. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย งานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และการดำเนินกิจกรรมด้านอื่น ๆ เช่น การฝึกอบรม และการบริการวิชาการแก่สังคม เป็นต้น ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร