วันพฤหัสบดี, 8 พฤษภาคม 2568

ร่วมแถลงผลการปฏิบัติ พร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาพืชกระท่อม – ระดมกวาดล้างเครือข่ายยาเสพติด ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 ตรวจยึดของกลาง หลายรายการ

ภายใต้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการแก้ไขปัญหาและการจัดระเบียบการจำหน่ายพืชกระท่อมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการควบคุมการใช้พืชกระท่อมอย่างเหมาะสม และนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ตำรวจภูธรภาค 9 , กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 และผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ได้ร่วมกำหนดแผนปฏิบัติการในการระดมกวาดล้าง และแก้ไขปัญหาร่วมกัน

(วันนี้ 8 พฤษภาคม 2568) เวลา 10.30 น. ที่ห้องวอร์รูม ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลตำรวจโท ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9/ รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า, พลตรี กรกฎ ภู่โชติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ , นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 และนายมูฮัมมัด ศานติภิมุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ร่วมแถลงกำหนดแผนปฏิบัติการในการระดมกวาดล้าง และแก้ไขปัญหา และการจัดระเบียบการจำหน่ายพืชกระท่อมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขานรับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการแก้ไขปัญหา และการจัดระเบียบการจำหน่ายพืชกระท่อมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการควบคุม การใช้พืชกระท่อมอย่างเหมาะสม และนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

พลตำรวจโท ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 / รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาพืชกระท่อม และการระดมกวาดล้างเครือข่ายยาเสพติดและแหล่งพักคอยยาเสพติดในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 หลังจากเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 มีผลการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาและจัดระเบียบการจำหน่ายพืชกระท่อม ซึ่งจากการสำรวจร้านจำหน่ายพืชกระท่อมในพื้นที่ มีจำนวน 182 ร้าน/จุด เข้าดำเนินการตรวจสอบแล้ว จำนวน 168 ร้าน พบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2565 จำนวน 28 ราย ความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 2 ราย ไม่พบการกระทำความผิดจำนวน 138 ราย และยึดของกลางประกอบด้วยใบพืชกระท่อมจำนวน 103.2 กิโลกรัม น้ำต้มพืชกระท่อม จำนวน 738 ลิตร และมีการระดมกวาดล้างเครือข่ายยาเสพติด และแหล่งพักคอยยาเสพติด ได้กำหนดเป้าหมาย เข้าตรวจค้น จำนวน 58 เครือข่าย 469 เป้าหมาย สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ จำนวน 381 คดี ผู้ต้องหา 388 คน ตรวจยึดยาเสพติดของกลางเป็น ยาบ้า 29,788 เม็ด, ไอซ์ 11.6 กิโลกรัม,เฮโรอีน 85 กรัม ตรวจยึดทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายยาเสพติดจำนวน 168 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,979,705 บาท

สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของตำรวจภูธรภาค 9 ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ได้จำนวน 10,294 คดี ผู้ต้องหา จำนวน 10,627 ราย และตรวจยึดของกลางยาเสพติด ได้แก่ ยาบ้า จำนวน 15,221,623 เม็ด , ไอซ์ จำนวน 495.31 กิโลกรัม และเฮโรอีน จำนวน 235.32 กิโลกรัม ยึดทรัพย์สินของกลางในคดี และทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้จำนวนทั้งสิ้น 509,662,356 บาท และทางตำรวจภูธรภาค 9 ยังคงดำรงความมุ่งหมายในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ตามนโยบายรัฐบาลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพบเบาะแสของผู้ค้า ผู้เสพ และปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล ตรัง และพัทลุง สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 191 และทุกสถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้บ้าน

ด้าน พลตรี กรกฎ ภู่โชติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ทาง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ร่วมดำเนินการในการบูรณาการในการแก้ไขปัญหายาเสพติตอย่างจริงจัง ขานรับนโยบายรัฐบาล และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ที่ผ่านมา ทาง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดตั้ง ตำบลนำร่องขึ้นมา เพื่อนำผู้ที่ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยมีหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่เป็นแกนหลัก ทั้งนี้ มีการพิจารณาผู้ที่มีอาการหนัก พฤติกรรมก้าวร้าว เข้าสู่สถานบำบัด โรงพยาบาล ส่วนในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามได้ร่วมกับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ มีเครือข่ายญาลันนันบารู ที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนในพื้นที่

นอกจากนี้ด้าน พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาพืชกระท่อม และยาเสพติด คือกลุ่มใหม่ต้องไม่เข้าสู่กระบวนการ โดยการสร้างกลไก สร้างการรับรู้ พัฒนากลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่เป้าหมาย ให้เกิดกลไก ที่จะไม่เข้ามาสู่กระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นพืชกระท่อม หรือยาเสพติดประเภทใดก็ตาม พร้อมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับกลุ่มที่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย หรือถูกจับกุม เพื่อที่จะได้ไม่กลับหวนมาสู่เส้นทางยาเสพติดอีกต่อไป

เช่นเดียวกับ นายมูฮัมมัด ศานติภิมุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า จาก พรบ.พืชกระท่อม ที่มีผลบังคับใช้ ทางจังหวัดได้มีการประชาสัมพันธ์ โดยผ่านกลไก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยการประชุมของอำเภอและส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อมูลอำนาจหน้าที่ พร้อมทั้งการให้ความรู้ การกวดขัน รณรงค์ ไม่ให้ประชาชนนำพืชกระท่อมไปแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวัตถุที่ออกฤทธิ์ ทั้งน้ำหวาน เครื่องดื่มชูกำลัง และยาอันตราย พร้อมทั้งการรับแจ้งข้อมูลเบาะแส พื้นที่ ที่มีการการจำหน่ายผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่สามารถใช้มาตรการข้อกฎหมายเข้าควบคุมอย่างเข้มข้นต่อไป

ในส่วนของ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 เปิดเผยว่า สำหรับความผิดพืชกระท่อม ตามพระราชบัญญัติพืชกระท่อม คือห้ามขายให้กับเด็ก 3 กลุ่ม เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร และห้ามขายในตู้ขายอัตโนมัติ ห้ามขายสถานศึกษาในอนาคตจะมีเรื่องของระยะห่างจากสถานศึกษา หน้าที่ผู้ขาย ห้ามขายให้กับ 3 กลุ่ม ห้ามขายในลักษณะจูงใจ มีการผสม กับวัตถุออกฤทธิ์ น้ำหวาน หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ถือว่ามีความผิด

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะมีการเสนอแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดครอบคลุม 3 ปี ถึง ปี 2570 ซึ่งภายใต้แผนที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร บูรณาการทุกภาคส่วน คำนึงถึงลักษณะความแตกต่างทางสังคมด้วย ซึ่ง ตั้งแต่ปี 2562-2567 จากข้อมูล ผู้ติดพืชกระท่อม จากแสนกว่าราย เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งล้านสามแสนราย เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า ซึ่งเป็นข้อกังวล สร้างผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งในเรื่องนี้จะกำหนดให้เป็นวาระของปัญหาพืชกระท่อมในพื้นที่ จชต.เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้ลดลง และอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ เนื่องจากว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และมีการใช้พืชกระท่อมตามลักษณะของวิถีชุมชน ใช้สำหรับเคี้ยว และชงชา แต่การใช้พืชกระท่อมที่มีส่วนผสม ทั้งสารเพิ่มความหวาน สารที่ออกฤทธิ์ สารที่เป็นลักษณะยาอันตราย ยาที่ควบคุม จะมีความผิด ที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมมืออย่างจริงจัง