
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มรภ.สงขลา เปิดบ้านรับการตรวจประเมินโครงการสำนักงานสีเขียวและห้องสมุดสีเขียว ด้านห้องสมุดและด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พร้อมรับคำแนะนำไปพัฒนาการดำเนินงานให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เดินหน้าสู่จุดมุ่งหมายมหาวิทยาลัยสีเขียว SKRUGreen
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย อาจารย์เสรี ชะนะ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการฯ ผศ.ปิยกุล จันทบูรณ์ รองผู้อำนวยการ พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินงานสำนักงานสีเขียวและห้องสมุดสีเขียว เข้ารับการตรวจประเมินโครงการสำนักงานสีเขียวและห้องสมุดสีเขียว ณ สำนักงานสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มรภ.สงขลา โดยตรวจประเมินครบทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านที่ 1. ห้องสมุด ประกอบด้วย 5 หมวด และด้านที่ 2. ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 7 หมวด โดยมีคณะกรรมการตรวจประเมิน ได้แก่ อาจารย์ ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ หัวหน้าคณะผู้ตรวจประเมิน รศ.ดร.วิไลลักษณ์ รัตนเพียรธัมมะ นายทรงศักดิ์ ควรคิด น.ส.เพชรประกายแก้ว ดวงหฤทัยทิพย์น.ส.ธนาภรณ์ ฉิมแพ พร้อมด้วยผู้สังเกตการณ์ คือ น.ส.สายรุ้ง กล่ำเพชร และ น.ส.จันทร์เพ็ญ กัลยาวงษ์
นอกจากนั้น ยังมีการสัมภาษณ์ผู้บริหารและบุคลากรสำนักวิทยบริการฯ มรภ.สงขลา เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ รวมทั้งพูดคุยกับนักศึกษาและเยี่ยมชมพื้นที่ดำเนินงานตามเกณฑ์การพัฒนาสำนักงานสีเขียวและห้องสมุดสีเขียว จากนั้นคณะกรรมการได้ประเมินและสรุปผลการตรวจประเมิน พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานสำนักงานสีเขียวและห้องสมุดสีเขียวแก่สำนักวิทยบริการฯ เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลักและจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ให้กับบุคลากรทุกคน ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการตรวจประเมินจะนำผลการตรวจประเมินสำนักงานสีเขียวและห้องสมุดสีเขียว เข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารชมรมห้องสมุดสีเขียว และเสนอต่อสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ สำนักวิทยบริการฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาสำนักวิทยบริการฯให้เป็นหน่วยงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการให้บริการแบบยั่งยืน ทั้งอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ความรู้ในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ สร้างเครือข่าย ปรับใช้และพึ่งพาวัสดุและพลังงานจากธรรมชาติ ลดการใช้พลังงาน โฟมและพลาสติก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยลดสภาวะโลกร้อน ตลอดจนจัดหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาให้บริการ เพื่อส่งต่อไปยังจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว SKRUGreen ในอนาคต
การเข้ารับการตรวจประเมินในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://l.skru.ac.th/eK5pD
ข้อมูลและรูป โดย เพจ ARIT OF SKRU