วันจันทร์, 29 เมษายน 2567

สุดเจ๋ง ชมรมถันยรักษ์ มรภ.สงขลา คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวดสืบสานและต่อยอดภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม “อ.จิรภา คงเขียว อ.ดร.ภัชชนก รัตนกรปรีดา อ.เยาวลักษณ์ เตี้ยนวน” รับรางวัลอาจารย์ที่ปรึกษาคุณูปการ

ชมรมถันยรักษ์ มรภ.สงขลา สร้างชื่อเวทีระดับประเทศ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวดสืบสานและต่อยอดภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ฟาก “อ.จิรภา คงเขียว” รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา พร้อมด้วย อ.ดร.ภัชชนก รัตนกรปรีดา อ.เยาวลักษณ์ เตี้ยนวน” รับรางวัลอาจารย์ที่ปรึกษาคุณูปการ

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 อ.จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วย อ.ดร.ภัชชนก รัตนกรปรีดา อ.เยาวลักษณ์ เตี้ยนวน อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมถันยรักษ์ฯ นำตัวแทนนักศึกษาชมรมถันยรักษ์ มรภ.สงขลา ซึ่งประกอบด้วย นางสาวซุลฟา หะยีเจ๊ะแน นางสาวศุภาพิชญ์ เหมศิริ นางสาวรอเดีย วาหลง นางสาวอิศราภรณ์ อักษร นายอภิสรณ์ สุวรรณโณ และ นายกวิภัฎ ทิพย์กองลาศ เข้าร่วมการประกวดสืบสานและต่อยอดภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม “ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ประจำปี 2566 รอบชิงชนะเลิศ จัดโดย มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ร่วมกับทรูปลูกปัญญา ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผลปรากฏว่าทีมชมรมถันยรักษ์ มรภ.สงขลา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในกลุ่มสืบสาน รับถ้วยพร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท จากทั้งหมด 14 ทีมที่เข้าร่วมประกวด

ไม่เพียงเท่านั้น อ.จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา และ อ.ดร.ภัชชนก รัตนกรปรีดา และ อ.เยาวลักษณ์ เตี้ยนวน ยังได้รับรางวัลอาจารย์ที่ปรึกษาคุณูปการในเวทีนี้ด้วย ทั้งนี้ ชมรมถันยรักษ์ มรภ.สงขลา ได้จัดทำภาพยนตร์สั้น เรื่อง “The Dream” ซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนการรณรงค์การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การค้นหาตั้งแต่เริ่มแรก คือการป้องกันที่ดีที่สุด ภายใต้แนวคิด “เราอยากให้ผู้หญิงไทยได้ตระหนักรู้และตระหนักถึงภัยที่อาจจะเกิดขึ้น มะเร็งเต้านมถ้าหากคัดกรองเจอในช่วงแรก โอกาสที่จะสามารถรักษาหายได้ถึง 90%”

นอกจากนั้น ชมรมถันยรักษ์ มรภ.สงขลา ยังได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เรื่องการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ในแคมเปญ “กุมมือเพื่อน ชวนน้อง ขอร้องพี่…รักใคร…ให้ตรวจเต้า” และกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เรื่องมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ในหน่วยฝึกฯ/ชุมชน โดยนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพฯ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขชุมชน) ทั้งภาคปกติและภาค กศ.บป. จำนวน 63 หน่วยฝึก ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง สตูล ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส