วันอาทิตย์, 28 เมษายน 2567

อาจารย์-นศ.เทคโนโลยีการผลิตพืช มรภ.สงขลา ร่วมอบรมเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน

อาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช มรภ.สงขลา เข้าร่วมอบรมโครงการเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รุ่นที่ 3 มุ่งเน้นพัฒนาทักษะทางวิชาการควบคู่ฝึกปฏิบัติ ปูทางสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ

เมื่อวันที่ 13 และ 18 ธันวาคม 2566 ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตร ทล.บ. สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช บูรณาการในรายวิชาการผลิตปาล์มน้ำมัน เข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รุ่นที่ 3 (Re-Skill, Up-Skill) จัดโดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวต้อนรับและเปิดโครงการดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความชำนาญที่หลากหลาย มาร่วมบรรยายให้ความรู้ ได้แก่ 1. ดร.สุรชาติ เพชรแก้ว รักษาการหัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บรรยายในหัวข้อเรื่อง การจัดการปุ๋ยตามระยะการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน 2. นายธีรภาพ แก้วประดับ นักวิทยาศาสตร์ บรรยายในหัวข้อเรื่อง ความเป็นมาของปาล์มน้ำมันและวิธีการปนับปรุงพันธุ์ 3. นายธัชวีร์ ขวัญแก้ว นักวิชาการอุดมศึกษา บรรยายในหัวข้อเรื่อง การจัดการสวนปาล์มน้ำมัน 4. นายธนนต์ รุ่งนิลรัตน์ นักวิชาการอุดมศึกษา บรรยายในหัวข้อเรื่อง การเก็บตัวอย่างดินและใบเพื่อการจัดการปุ๋ยตามความต้องการของพืช

รศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีทิศทางขยายตัว โดยความต้องการได้แรงหนุนจากกำลังซื้อภายในประเทศทั้งอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไบโอดีเซล ส่งผลให้รายได้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้น การจัดการแปลงปลูก การให้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพ การเก็บเกี่ยวผลผลิต ยังคงเป็นส่วนสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกจะต้องรับรู้และได้จัดการให้ถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำมันปาล์มที่มีคุณภาพต่อไป

ด้าน นายณัฐพงษ์ ร่มสุข นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา หนึ่งในผู้เข้าอบรม กล่าวว่า รู้สึกประทับใจและได้รับความรู้มากมายทั้งในแปลงปฏิบัติและในการบรรยาย ซึ่งการปฏิบัติได้ทดลองเก็บตัวอย่างดินและการหาทางใบปาล์มน้ำมันที่ 17 เพื่อนำไปวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารในการจัดการการให้ปุ๋ยกับปาล์มน้ำมันได้อย่างถูกต้องตามที่พืชต้องการ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้สามารถนำไปใช้จัดการการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพในแปลงปลูกของตนเองต่อไปได้