วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

“อ.อภิชาติ พันชูกลาง” มรภ.สงขลา ศึกษารูปแบบการเลี้ยงและลักษณะซากจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยในเขต ต.ทุ่งหวัง คว้ารางวัลนำเสนอผลงานวิจัยระดับดีมาก กลุ่มผลิตสัตว์

“อาจารย์อภิชาติ พันชูกลาง” คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ศึกษารูปแบบการเลี้ยงและลักษณะซากจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ในเขต ต.ทุ่งหวัง คว้ารางวัลนำเสนอผลงานวิจัย ระดับดีมาก ภาคบรรยาย กลุ่มผลิตสัตว์ เจ้าตัวเผย หวังใช้ความรู้ทางวิชาการ ต่อยอดจัดทำคู่มือจัดการฟาร์มเลี้ยงจระเข้ขุนสำหรับเกษตรกร

อาจารย์อภิชาติ พันชูกลาง คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา ) เปิดเผยว่า ผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษารูปแบบการเลี้ยงและลักษณะซากจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ในเขตตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ที่ตนจัดทำร่วมกับ ผศ.ขนิษฐา พันชูกลาง ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยระดับดีมาก ในการประชุมวิชาการสัตวศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2563-2564 ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยเป็นรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัย ประเภท การนำเสนอด้วยวาจา (Oral Presentation) Section ที่ 7: กลุ่มการผลิตสัตว์ และอื่นๆ (สัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง)

อาจารย์อภิชาติ กล่าวว่า งานวิจัยที่จัดทำขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษารูปแบบการเลี้ยงและลักษณะซากของจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) โดยตนและผู้ร่วมวิจัยเก็บข้อมูลด้วยการใช้แบบสัมภาษณ์แบบเฉพาะเจาะจง ทำให้ทราบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้ในเขตตำบลทุ่งหวัง มีจำนวน 17 ราย เกษตรกรทั้งหมดมีวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงจระเข้เพื่อจำหน่ายหนัง โดยเป็นการเลี้ยงจระเข้ขุนในแบบขังแยกเดี่ยว และในการเลี้ยงจระเข้ขุน เกษตรกรให้อาหารเป็นโครงไก่และหัวไก่ (100%) เมื่อตนศึกษาลักษณะซากจระเข้ทั้งเพศผู้และเพศเมียที่มีอายุระหว่าง 36-42 เตือน พบว่าลักษณะต่างๆ ทั้งในจระเข้เพศผู้และจระเข้เพศเมีย ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ แต่ในส่วนของเปอร์เซ็นต์หัวของจระเข้เพศเมียจะมีค่ามากกว่าจระเข้เพศผู้

ทั้งนี้ ตนได้ส่งผลการวิจัยเข้าร่วมนำเสนอผลงานแบบบรรยายในงานประชุมวิชาการฯ ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานระดับดีมาก และได้รับการตีพิมพ์ผลงานต่อเนื่องทางวิชาการในวารสารแก่นเกษตร ซึ่งเป็นวารสารระดับชาติ และหากสนใจอ่านผลงานฉบับเต็มสามารถติดตามอ่านได้ที่ วารสารแก่นเกษตร ฉบับพิเศษ 2. 2564. ได้ (KHON KAEN AGRICULTURE JOURNAL SUPPL. 2: (2021)

สำหรับที่มาของการทำวิจัยเรื่องนี้ เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาตนมีโอกาสได้รู้จักกับประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจระเข้ขุนบ้านทรายขาว ทำให้ทราบว่าทางกลุ่มฯ รวมตัวกันเลี้ยงจระเข้มานานกว่า 10 ปี โดยเป็นการเลี้ยงแบบลองผิดลองถูกไม่มีหลักวิชาการใดๆในการเลี้ยง เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่เพิ่งมีการส่งเสริม ไม่มีข้อมูลใดเลยในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงจระเข้ในบ่อ ตนจึงเข้าไปช่วยเหลือในการเก็บบันทึกข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงจระเข้ทั้งระบบ รวมทั้งช่วยให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงจระเข้ การจัดการสุขาภิบาลฟาร์ม รวมถึงการรักษาโรคในจระเข้ โดยใช้ข้อมูลรายงานจากต่างประเทศเทียบเคียง และข้อมูลจากอาจารย์ด้านสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยที่เป็นพันธมิตรในการให้คำปรึกษากับทางกลุ่มฯ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การทำวิจัยกับชุมชนจะทำได้ง่ายมากหากปัญหานั้นมาจากความต้องการของชุมชน โดยนักวิจัยต้องทำตัวเองให้เป็นผู้ให้โดยไม่ปฏิเสธหรือมีข้อแม้ก่อน ยกตัวอย่าง ในบางครั้งเกิดการตายของจระเข้โดยไม่ทราบสาเหตุต่อเนื่องมากกว่า 10 ตัว เมื่อได้ทราบข้อมูลตนจึงใช้เวลาหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจหลัก ลงฟาร์มที่พบปัญหา เพื่อเก็บข้อมูลและช่วยแก้ปัญหาให้ทันที และคอยติดตามผลตลอดเวลาจนปัญหาการตายของจระเข้คลี่คลายไป หลังจากนั้นทำให้ตนได้พบว่าเมื่อใดก็ตามที่เราต้องการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ก็จะได้รับการต้อนรับและได้ข้อมูลด้วยความเต็มใจของเกษตรกรตลอดเวลาทุกครั้ง อาจกล่าวได้ว่า เมื่อความต้องการมาจากชุมชนและเราเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน การลงวิจัยกับชุมชนก็เป็นเรื่องง่ายของนักวิจัย

แนวทางการต่อยอดในอนาคต จากความตั้งใจที่ได้เก็บข้อมูลด้านการเลี้ยงจระเข้ในฟาร์มมาอย่างต่อเนื่อง ผมต้องการจัดทำคู่มือการจัดการฟาร์มเลี้ยงจระเข้ขุนสำหรับเกษตรกร คู่มือการเลี้ยงจระเข้ขุนตามหลักวิชาการ และเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการเลี้ยงจระเข้ทั้งระบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อเป็นข้อมูลด้านการเลี้ยงจระเข้ขุนในฟาร์มของประเทศไทยต่อไป” อาจารย์อภิชาติ กล่าว