วันจันทร์, 29 เมษายน 2567

เกษตร” มรภ.สงขลา ปั้นศูนย์ความเป็นเลิศกาแฟ สร้างอัตลักษณ์พืชท้องถิ่น ตอบโจทย์พื้นที่เขาวังชิง

อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศกาแฟ ตอบโจทย์พื้นที่ เขาวังชิง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา หวังช่วยสร้างอัตลักษณ์พืชท้องถิ่น เตรียมต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด “จากต้น สู่แก้ว” พร้อมเปิดให้กลุ่มเกษตรกรต่างพื้นที่เข้าศึกษาดูงาน “เขาวังชิง ตัวจริงเรื่องกาแฟ”

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะประธานศูนย์ความเป็นเลิศกาแฟ พร้อมด้วยทีมคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศกาแฟ คณาจารย์ และนักวิชาการเกษตร ได้แก่ ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ ผศ.ปริยากร บุญส่ง ดร.มงคล เทพรัตน์ ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร อ.สันติ หมัดหมัน อ.พงษ์ศักดิ์ มานสุริวงศ์ ว่าที่ร้อยตรีณัฐวุฒิ ขุนหลัด และนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช ชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ให้การต้อนรับกลุ่มเกษตรกรจาก จ.สตูล และ จ.พัทลุง ในโอกาสเดินทางมาศึกษาเรียนรู้การจัดการให้ปุ๋ยและการแปรรูปกาแฟด้วยวิธีการหมัก ณ พื้นที่เขาวังชิง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คณะผู้ศึกษาดูงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการแปลงปลูกกาแฟคลองหอยโข่ง การให้ปุ๋ยกับต้นกาแฟที่ปลูกร่วมยาง ผ่านการประเมินสมบัติดินและการวัดการเจริญเติบโตของกาแฟ และในครั้งนี้ได้นำทักษะปฏิบัติการในส่วนของการจัดการปุ๋ยสอนให้กับนักศึกษาและกลุ่มเกษตรกรจาก จ.พัทลุง และ จ.สตูล ที่มาเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว การลงพื้นที่บริการวิชาการที่ศูนย์เรียนรู้การผลิตและแปรรูปกาแฟ ซึ่งได้นำหลักการจัดการปุ๋ยที่ผ่านการทดลองแล้วมาใช้ในการผสมและให้ปุ๋ยกาแฟตามความต้องการของพืช ซึ่งกาแฟที่ปลูกนี้มีการให้ปุ๋ยโดยการแบ่งใส่เป็นรอบปี (4 เดือน/ครั้ง) ทั้งการให้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีร่วมด้วย

ดร.มงคล เทพรัตน์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เล่าว่า ที่ผ่านมาทางคณะฯ ได้จัดโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา : การทำเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในกิจกรรมที่ 5 สนับสนุนการพัฒนาอาชีพ : การปลูกกาแฟเพื่อเสริมรายได้ในสวนยาง/ ไม้ผล/พืชผสมผสาน โดยตอนนั้นมีเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมเพียง 9 ราย ปัจจุบันเกษตรกรที่รวมกลุ่มสามารถจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟได้ผ่านการขึ้นทะเบียน อย. และมีจำนวนเกษตรกรเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากปัจจัยด้านรายได้ ความสนใจบริโภค และบริบทของการดื่มกาแฟของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ กรรมการศูนย์ความเป็นเลิศกาแฟ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า การแปรรูปกาแฟด้วยวิธีการหมักนั้น แต่เดิมกระบวนการผลิตกาแฟของทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขาวังชิงใช้วิธีการ honey process หรือไม่ก็ wet process ซึ่งเป็นวิธีการพื้นฐานที่ใช้กันทั่วไปสำหรับการผลิตกาแฟในปริมาณมาก แต่อย่างไรก็ตาม กาแฟที่ผลิตขึ้นยังไม่สามารถสร้างอัตลักษณ์ให้กับพื้นที่ได้ ศูนย์ความเป็นเลิศ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา จึงมาพัฒนาต่อว่าจะทำอย่างไรให้กาแฟมีอัตลักษณ์ของพื้นที่ และสามารถพัฒนากลิ่น รส และบอดี้ของกาแฟได้ดีขึ้น โดยได้พัฒนาผ่านกระบวนการหมักโดยการใช้ยีส

นอกจากนั้น กาแฟที่คลองหอยโข่งยังถือได้ว่าเป็นกาแฟที่มีอัตลักษณ์ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีคุณภาพได้ แต่แปลงปลูกกาแฟของพื้นที่ยังมีน้อย ดังนั้น ศูนย์ความเป็นเลิศกาแฟจึงจะผลิตกาแฟในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เพื่อการสร้างอัตลักษณ์ให้กับพื้นที่ ซึ่งผ่านกรรมวิธีและกระบวนการหมักโดยใช้ยีสในขั้นตอนการแปรรูป การทดสอบสัดส่วน ปริมาณ ระยะเวลา และส่วนประกอบต่างๆ เพื่อควบคุมสภาวะที่เหมาะสมของยีสในกระบวนการหมัก เพื่อให้ได้กลิ่นรสและรสชาติของกาแฟที่ดีขึ้น และสามารถสร้างเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้ดังสโลแกนที่ว่า “เขาวังชิง ตัวจริงเรื่องกาแฟ”

ผศ.ปริยากร บุญส่ง กรรมการศูนย์ความเป็นเลิศกาแฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางศูนย์ฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนกาแฟเขาวังชิง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ที่มีต้นทุนแข็งแกร่งในเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน มีเรื่องราวของกาแฟที่สามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ “กาแฟเขาวังชิง” ภายใต้แนวคิด “จากต้น สู่แก้ว” เรามีการวิจัยและพัฒนาเมล็ดกาแฟของชุมชนให้คุณภาพสูงขึ้น ซึ่งจุดเริ่มต้นของการปลูกกาแฟที่พื้นที่เขาวังชิงคือปลูกร่วมกับต้นยาง เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือก แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการใช้นวัตกรรมสร้างความแตกต่าง ความหลากหลายของรูปแบบ ผู้บริโภคสามารถเลือกกาแฟได้ตามความต้องการ