
ตามที่ได้มีสื่อสังคมออนไลน์ “เสียงในพื้นที่” พยายามนำเสนอข้อความบิดเบือนทางเพจเฟสบุ๊ค โดยมีความมุ่งหวัง เพื่อให้เกิดความแตกแยก และเกิดความเกลียดชังทางความรู้สึกระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเพจดังกล่าวได้โพสต์รูปและระบุข้อความว่า “กลุ่มชายไทยพุทธรุมทำร้ายเด็กปอเนาะในปัตตานีจนสาหัส แล้วยัดทิ้งข้างทาง เกิดเหตุชายฉกรรจ์มากกว่า 2 คน ซึ่งเป็นคนไทยพุทธ รุมทำร้ายเด็กนักเรียนปอเนาะจากอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและสลบ หลังจากนั้นผู้ก่อเหตุนำผู้บาดเจ็บยัดขึ้นรถพ่วงข้างไปทิ้งไว้ข้างทางแถวพื้นที่ “มะพร้าวต้นเดียว” ในจังหวัดปัตตานี ญาติของเหยื่อระบุว่าถูกทำร้ายร่างกายในบริเวณดังกล่าว และได้แจ้งความไว้แล้ว แต่ดูเหมือนคดีจะไม่มีการดำเนินการต่อ

ภายหลังรับทราบเรื่องดังกล่าว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ รีบดำเนินการสืบสวนหาข้อมูลความจริงอย่างเร่งด่วนพบว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2568 เวลา 1340 น. ร้อยเวรสืบสวนสถานีตำรวจภูธรตุยง ได้รับแจ้ง พบชายไทย อายุประมาณ 20 ปี ทราบชื่อภายหลังคือ นายนายือมูติง ฮูลูเจ๊ะหะ อายุ 25 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ ตำบลโคกสะตอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ถูกทำร้ายร่างกาย รู้สึกตัว สื่อสารได้บางส่วน นอนได้รับบาดเจ็บอยู่บริเวณถนนริมสระน้ำใกล้วงเวียนมะพร้าวต้นเดียว หมู่ที่ 1 ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จึงรีบรุดเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ บริเวณใต้ต้นไผ่ริมถนน มีร่องรอยหยดเลือด และร่องรอยล้อรถจักรยานยนต์ ส่วนผู้บาดเจ็บ มีพลเมืองดีนำส่งโรงพยาบาลปัตตานี เจ้าหน้าที่จึงได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลพบผู้บาดเจ็บ มีอาการบาดเจ็บบริเวณศรีษะ ใบหน้า ลำตัว และเท้า สามารถสื่อสารได้เล็กน้อย ต่อมาได้มีการนำตัวผู้ต้องสงสัยในเหตุทำร้ายร่างกายดังกล่าว มายังสถานีตำรวจภูธรตุยง เพื่อทำการสอบสวน ประกอบด้วย

1.นายอาลีอิมรอน (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี ภูมิลำเนาพื้นที่ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
2.นายสุนทรเวช (สงวนนามสกุล) อายุ 17 ปี ภูมิลำเนาพื้นที่ ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
3.นายฟาอิซ (สงวนนามสกุล) อายุ 17 ปี ภูมิลำเนาพื้นที่ ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
4.นายซัมรี (สงวนนามสกุล) อายุ 18 ปี ภูมิลำเนาพื้นที่ ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
5.นายฮาฟีซอล (สงวนนามสกุล) อายุ 15 ปี ภูมิลำเนาพื้นที่ ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

โดยทั้งหมดได้ให้การว่า พบเห็นผู้บาดเจ็บอยู่ในมัสยิดอามาดิยะ หมู่ที่ 7 ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี จึงได้เข้าสอบถามว่ามาจากไหน ซึ่งผู้บาดเจ็บตอบว่า “มาจาก จังหวัดนราธิวาสบ้าง มาจากจังหวัดยะลาบ้าง” มีอาการสับสน มีพิรุธ ท่าทางตกใจ ตัวสั่น พวกตน (ผู้ต้องสงสัย) จึงคิดว่าผู้บาดเจ็บจะเข้าไปขโมยของในมัสยิด จึงได้พากันนำตัว ผู้บาดเจ็บไปที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลปะกาฮะรัง เพื่อส่งตัวให้กับผู้ใหญ่บ้าน แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่า ผู้ใหญ่บ้านไม่อยู่ ต่อมาผู้บาดเจ็บได้อาศัยจังหวะที่พวกตนพูดคุยกัน วิ่งหลบหนีไปทางทุ่งนา พวกตนจึงไล่ตามไปพบผู้บาดเจ็บซ่อนตัวในกอหญ้าและมีอาการขัดขืน จึงเกิดการใช้กำลังกอดรัดและชุลมุนกันขึ้น จากนั้นจึงได้ช่วยกันจับกุมและควบคุมตัวผู้บาดเจ็บขึ้นรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง รวมทั้งใช้รถจักรยานยนต์ ขับขี่ควบคุมไปด้วยอีก 1 คัน เพื่อนำตัวผู้บาดเจ็บไปส่งให้เจ้าหน้าที่ทหารพรานที่อยู่บริเวณวงเวียนมะพร้าวต้นเดียว ในระหว่างทางผู้บาดเจ็บได้บอกให้ไปส่งที่บริเวณข้างสระน้ำก่อนถึงชุมชนไทยพุทธบ้านมะพร้าวต้นเดียว โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากผู้บาดเจ็บเพิ่งไปก่อเหตุลักขโมยมาจากที่อื่น จึงไม่อยากให้นำตัวไปส่งเจ้าหน้าที่ พวกตนจึงได้จอดรถให้ผู้บาดเจ็บลง แล้วจึงขับกลับไป แต่ก็ได้ขี่รถเวียนมาดูอีกครั้ง พบว่าผู้บาดเจ็บนั่งอยู่ที่เดิม พวกตนจึงเดินทางกลับ ทั้งนี้จากคำให้การดังกล่าว ปรากฏชัดเจนว่าผู้บาดเจ็บไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายมาก่อนแต่อย่างใด เนื่องจากสามารถวิ่งหลบหนีกลุ่มผู้ต้องสงสัยได้ อีกทั้งกลุ่มผู้ต้องสงสัยทั้ง 5 คนยังใช้แรงบังคับกอดรัดฟัดเหวี่ยงถึงขั้นชุลมุน กว่าจะจับตัวผู้บาดเจ็บไว้ได้

ต่อมามีผู้ใช้เพจเฟสบุ๊คชื่อ “Selamalama Nya Muda” ได้ออกมาโพสต์ผ่านเพจ“เสียงในพื้นที่” ว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นความเข้าใจผิดของผม แล้วเขาก๊อปข้อความที่ผมเข้าใจผิดไปลงโดยไม่ได้สอบถามข้อมูลก่อน แต่ยังไงเกิดจากความผิดของผมคนเดียว ที่ด่วนสรุป ยังไงก็ต้องขอโทษขออภัยทุกคน ที่ทำให้ความเสียหาย ต่อองค์กร หรือ บุคคล”

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กลุ่มแนวร่วมซึ่งมีหน้าที่ขยายผลสร้างการรับรู้ที่ไม่ถูกต้องและบิดเบือนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ พยายามฉกฉวยโอกาสในทุกช่องทางที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความแตกแยกในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างพี่น้องชาวไทยพุทธและพี่น้องชาวไทยมุสลิม โดยมีความมุ่งหวัง จุดหมายปลายทางเพื่อทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสังคมเชิงเดี่ยว ปลุกระดมความคิดและสร้างวาทกรรมให้ประชาชนในพื้นที่เลือกที่จะกำหนดชะตากรรมตนเอง (RSD) เพื่อที่จะแบ่งแยกจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรัฐอิสระในที่สุด รวมทั้งพยายามด้อยค่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่าไม่ใส่ใจสวัสดิภาพและความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่
สำหรับอาการของผู้ได้รับบาดเจ็บตอนนี้ยังอยู่ในอาการสาหัสไม่สามารถให้การกับเจ้าหน้าที่ได้ และจะเข้ารับการผ่าตัดในวันพรุ่งนี้ต่อไป

ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าขอเรียนให้ทราบว่า การนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อประชาชน จะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วน ได้พยายามส่งเสริมความรัก และความสามัคคี ของประชาชนทุกหมู่เหล่าในพื้นที่ เพื่อสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ โดยเฉพาะการแต่งกาย ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ของพี่น้องประชาชน มาโดยตลอด ทั้งนี้ พบเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การบิดเบือนข้อมูลอันเป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ หรือพบเห็นบุคคลต้องสงสัย เข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ สามารถแจ้งเข้ามาได้ ที่หมายเลขสายด่วน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หมายเลข 1341 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง