
กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ และกองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 จัดโครงการชุมชนสัมพันธ์ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤษภาคม 2568 ณ จังหวัดชลบุรี โดยดำเนินงานตามกรอบแนวทางตามพระราชดำริ ของยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นหลักในการเสริมสร้างความเข้าใจแก่ชุมชนในพื้นที่รอบที่ตั้งของหน่วย และขยายผลสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยในวันที่ 18 พฤษภาคม 2568 เวลา 17.00 น. ที่ โรงแรมไอยรา แกรนด์ เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พลอากาศโท ณรัฐ บุญประเสริฐ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการชุมชนสัมพันธ์ กองทัพอากาศ รุ่นที่ 2 ประจำปี 2568 โดยมี นาวาอากาศเอก เทพพิรักษ์ ฮ่อธิวงศ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน สำนักนโยบายและแผน กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ เจ้าหน้าที่จากกองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 ตลอดจนพี่น้องประชาชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้เข้าร่วมโครงการ ร่วมให้การต้อนรับด้วยความอบอุ่น

กิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยการศึกษาดูงานในสถานที่สำคัญของทหารและจังหวัดชลบุรี อาทิ การเยี่ยมชมมัสยิดดารุ้ลอิบาดะห์เมืองพัทยา ที่เป็นศาสนสถานสำคัญของพี่น้องมุสลิมที่รายล้อมด้วยชุมชนหลากหลายวัฒนธรรม รวมไปถึง ในพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของโบสถ์เซนต์นิโคลัสของพี่น้องชาวคริสต์ ซึ่งสะท้อนภาพของการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน

จากนั้น คณะฯ ได้เดินทางต่อไปที่ เรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งเป็นเรือรบหลวงหลักของกองทัพเรือ มีขีดความสามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์และอากาศยาน ลำแรกและลำเดียวในปัจจุบัน และเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ในการนี้คณะผู้ร่วมโครงการฯ ได้รับเกียรติจากผู้บังคับการเรือ ซึ่งมอบหมายให้นายทหารยุทธการเรือบรรยายสรุปภารกิจและนำเยี่ยมชมพื้นที่ปฏิบัติงานจริงของลูกเรือ อันจะช่วยให้ผู้ร่วมโครงการฯ ได้รับความรู้และความเข้าใจในภารกิจทางทหารอย่างลึกซึ้ง

เวลาต่อมา คณะผู้ร่วมโครงการฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ ซึ่งเป็นแหล่งให้ความรู้ทางชีววิทยาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของเต่าทะเล โดยมีบ่ออนุบาลเต่าทะเลที่จำลองขั้นตอนตั้งแต่ออกจากไข่ จนถึงระยะที่สามารถปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้

ที่สำคัญ ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมปล่อยเต่าทะเลกลับคืนสู่ท้องทะเล ถือเป็นการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน
สถานที่สำคัญอีกแห่งที่การเดินทางครั้งนี้ให้ความสำคัญ คือ การเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์พืช ควบคู่ไปกับการสะท้อนแนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยคณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชม “สวนนงนุช” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศระดับโลก ที่รวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิดจากทั่วทุกมุมโลกไว้ในพื้นที่เดียวกัน

แม้พืชแต่ละชนิดจะมีถิ่นกำเนิด ลักษณะ และสภาพแวดล้อมที่เติบโตแตกต่างกัน บ้างมาจากเขตร้อน บางชนิดมาจากเขตหนาว หรือแม้แต่จากเขตทะเลทราย แต่ทั้งหมดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างงดงามและสมดุลในสวนเดียวกัน

แนวคิดนี้เปรียบเสมือนภาพสะท้อนของคุณค่าความหลากหลายในสังคมมนุษย์ของมนุษย์ โดยเฉพาะในด้านศาสนาและวัฒนธรรม ถึงแม้จะแตกต่างกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เข้าใจ และเคารพซึ่งกันและกันได้ เช่นเดียวกับพันธุ์ไม้ต่างถิ่นที่เบ่งบานร่วมกันได้ในสวนเดียวกัน

การเดินทางครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดจากโครงการ “เยาวชนใต้ฟ้าเดียวกัน” โดยเปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ เยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนมุมมอง เรียนรู้วัฒนธรรม และวิถีการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ในสังคมที่มีความหลากหลาย เพื่อเสริมประสบการณ์ เปิดโลกทัศน์ และต่อยอดแนวคิดในการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาส และความเท่าเทียมในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับไปถ่ายทอด ขยายผล และประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนของตนเองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ด้าน นายชญานนท์ ป้องคำ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการได้เปิดเผยว่า “การได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีทั้งพี่น้องไทยพุทธและไทยมุสลิมจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมกัน พื้นที่แห่งนี้จึงกลายเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้วิถีชีวิตซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยน พูดคุย ในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน รวมไปถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคม”
