
การสร้างประสบการณ์ตรง พร้อมเปิดพื้นที่การศึกษาเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ให้กับพี่น้องประชาชน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่ สำนักมวลชนและกิจการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ภายใต้การสนับสนุนของ พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จึงจัดโครงการ “สานสัมพันธ์ไทยพุทธ – มุสลิม จังหวัดชายแดนภาคใต้” ระหว่างวันที่ 2 – 6 มิถุนายน 2568 ณ ประเทศมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมในระดับสากล เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับประเทศเพื่อนบ้าน และนำความรู้ ความเข้าใจที่ได้รับ มาขยายผลต่อยอดในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (4 มิถุนายน 2568) เวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย พันโท พฤกษชาติ พูลพัฒนโยธิน หัวหน้าชุดควบคุมที่ 955 หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข นำพี่น้องประชาชนชาวไทยพุทธ – มุสลิม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 50 คน ร่วมเดินทางศึกษาเรียนรู้สถานที่สำคัญของประเทศมาเลเซีย

โดยเริ่มเดินทางออกจากรัฐปีนัง เพื่อมุ่งสู่รัฐกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย ผ่านสะพาน สุลต่านอับดุล ฮาลิม มูอัดซัม ชาห์ หรือที่รู้จักกันในชื่อสะพานปีนังแห่งที่ 2 เป็นสะพานเก็บค่าผ่านทางทางคู่ในรัฐปีนัง ที่เชื่อมเกาะกับแผ่นดินใหญ่ มีความยาวรวมของช่วงสะพาน 24 กิโลเมตร

จากนั้น คณะฯ ได้เดินทางต่อไปยัง เก็นติ้งไฮแลนด์ รัฐปะหัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในอดีต ปัตตานีและรัฐปะหัง มีความเชื่อมโยงกันทั้งด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยเฉพาะในยุครุ่งเรืองของ รายาฮีเยา ที่ปัตตานีมีการค้าขายกับชาติตะวันตก เช่น ฮอลันดา สเปน และอังกฤษ ขณะที่รัฐปะหังก็เป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเช่นกัน จึงสร้างความสัมพันธ์ทางการเมือง โดยการสร้างพันธะเครือญาติผ่านการอภิเษกสมรสของรายาอูงูและสุลต่านปะหัง ทางด้านวัฒนธรรม ทั้งสองรัฐใช้ ภาษามลายู ร่วมกัน มีความเชื่อและประเพณีที่คล้ายคลึงกัน สะท้อนถึงรากทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้ เก็นติ้งไฮแลนด์ รัฐปะหังยังมีแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์รวมความบันเทิงชื่อดังของประเทศมาเลเซีย ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 6,500 ฟุต ที่นี่เป็นที่ตั้งของโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสามารถเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาได้อย่างสะดวกด้วยกระเช้าลอยฟ้า

ต่อมาคณะฯ ได้ทางไปเยี่ยมชมอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ คือ ตึกแฝดปิโตรนาส (Petronas Twin Towers) ซึ่งเป็นหนึ่งในตึกแฝดที่มีความสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เชื่อมต่อกันด้วยสะพานลอยฟ้า แต่ละตึกสูงมีความสูงถึง 451.9 เมตร มีทั้งหมด 88 ชั้น ตึกแห่งนี้จึงเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ และยังเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศมาเลเซีย รวมไปถึงเป็นภาพสะท้อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกด้วย

นางสาวมารีแย ตะซา หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ เปิดเผยว่า “รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการสานสัมพันธ์ไทย-มุสลิม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งกับพี่น้องไทยพุทธและไทยมุสลิม ซึ่งช่วยเสริมสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกัน

สิ่งที่ประทับใจมากคือการได้มาเยือนประเทศมาเลเซียเป็นครั้งแรก และได้เห็นการบริหารจัดการของเมืองที่เป็นระเบียบ โดยเฉพาะความสะอาด ไม่มีขยะตามริมถนน รวมถึงการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่น่าศึกษา ถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่สามารถนำกลับไปต่อยอดการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้