
ด่านตรวจหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจถูกมองว่าเป็นอุปสรรค หรือสร้างความไม่สะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน แต่เหตุการณ์ล่าสุดได้พิสูจน์แล้วว่า “ด่านตรวจ” ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อตรวจเอกสารหรือรถยนต์เท่านั้น…แต่มีความสำคัญต่อ ความมั่นคง ความปลอดภัย และชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง
ยาเสพติดกว่า 1.2 ล้านเม็ด ถูกจับได้ที่ด่านตรวจเกาะหม้อแกง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เวลาประมาณ 02.55 น. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถ จับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดรายใหญ่ ได้จำนวน 2 คน พร้อมของกลางคือยาบ้า มากถึง 1,260,000 เม็ด ซึ่งหากไม่ถูกสกัดไว้ที่ด่านตรวจ ยาเสพติดจำนวนนี้จะหลุดเข้าสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจตกไปอยู่ในมือของเยาวชนหรือลูกหลานของประชาชนในพื้นที่ก็เป็นได้ ซึ่งขบวนการลำเลียงเหล่านี้ใช้วิธีซ่อนตัวแนบเนียน ใช้ช่วงเวลาใกล้รุ่ง ใช้รถบรรทุกตู้ทึบ แต่ด้วยข้อมูลจากประชาชน และความร่วมมือของตำรวจ รวมถึงการปฏิบัติงานเข้มข้นของเจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจ ทำให้การลำเลียงถูกสกัดไว้ได้ทันเวลา ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
นอกจากนี้ยังตรวจพบ “ยาไอซ์” 317 กิโลกรัม ในช่องลับรถสิบล้อ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 โดยเจ้าหน้าที่ทหารพราน และชุดสืบสวนจังหวัดปัตตานี ได้ร่วมกันตรวจค้นรถสิบล้อที่ด่านเดียวกัน และพบยาไอซ์ซุกซ่อนอยู่ในช่องลับบริเวณท้ายรถ ปริมาณถึง 317 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่สามารถกระจายทำลายชีวิตผู้คนได้อีกหลายหมื่นคน
ด่านตรวจในพื้นที่จึงไม่ใช่เพื่อจับผิดประชาชนทั่วไป แต่คือ แนวป้องกันด่านหน้า ที่มีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย 1. สกัดยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ให้หลุดเข้าไปทำลายชีวิตเยาวชน 2. ป้องกันการก่อเหตุรุนแรง เช่น อาวุธ วัตถุระเบิด หรือบุคคลต้องสงสัย และ 3. เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ดังนั้น ด่านตรวจจึงเสมือนเป็นเกราะป้องกันด่านแรกของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ด่านตรวจในแต่ละพื้นที่จะดีได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในชุมชน ในฐานะ “หู และ ตา” ที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ การที่ด่านตรวจสามารถสกัดยาเสพติดจำนวนมหาศาล และป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ได้ ก็เพราะได้รับข้อมูลจากประชาชน และมีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง ดังนั้น การมี “ด่านตรวจ” ที่ทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นมิตรกับประชาชน ไม่ได้หมายถึงการกีดกันหรือจับผิด แต่คือการสร้าง “แนวป้องกันร่วมกัน” ของชุมชน เพื่อดูแลบ้านของเราให้ปลอดภัยจากยาเสพติด อาวุธ และภัยคุกคามต่าง ๆ แล้วในวันนี้…เมื่อผลลัพธ์ของการมีด่านตรวจชัดเจนเช่นนี้ พี่น้องประชาชนคิดว่า… “เราควรยกเลิกด่านตรวจ หรือ ควรช่วยกันพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ?”