ศูนย์ข่าวชาวบ้านนิวส์
Khawchawbannews

กีฬาเปลี่ยนชีวิต “นรินทิรา เรืองโรจน์” มรภ.สงขลา นศ.ครุฯ ผู้พลิกวิกฤตโรคไต

กีฬาเปลี่ยนชีวิต “นรินทิรา เรืองโรจน์” มรภ.สงขลา นศ.ครุฯ ผู้พลิกวิกฤตโรคไต สู่เส้นทางปันจักสีลัตอาชีพ




หลังทัพนักกีฬา มรภ.สงขลา เดินทางไปคว้าชัยในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 รอบมหกรรม จ.อุบลราชธานี ด้วยผลงาน 1 เหรียญเงิน 4 เหรียญทองแดง สร้างความภาคภูมิใจให้แก่สถาบัน หนึ่งในนั้นคือ นรินทิรา เรืองโรจน์ เจ้าของเหรียญเงินกีฬาปันจักสีลัต ประเภทต่อสู้ ผู้บอกตัวเองเสมอว่า แม้ความพยายามอาจจะไม่สำเร็จ แต่ทุกความสำเร็จล้วนมาจากความพยายาม จนทำให้วันนี้เธอสามารถเดินทางตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ไกลเกินครึ่ง   


              “กิ๊ฟ” นรินทิรา เรืองโรจน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เล่าย้อนกลับไปว่า ในอดีตเธอเป็นเด็กที่ไม่ชอบออกกำลังกาย และป่วยเป็นโรคไตตั้งแต่เรียนชั้น ป.2 อาการแย่ลงทุกวัน จนกระทั่งคุณแม่ของเธอชวนไปปั่นจักรยานเล่นทุกเย็น เพื่อหวังให้สุขภาพดีขึ้น โดยพัฒนาจากระยะทาง 1-2  กม.  จนตอนนี้สามารถออกทริปกับครอบครัวและเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆ ด้วยการจัดกระเป๋าคาดท้ายจักรยานไปไกลถึงประเทศมาเลเซีย เป็นระยะทางกว่า 50 กม. ต่อวันได้อย่างสบาย เมื่อสุขภาพดีขึ้นเธอจึงตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการกีฬา เริ่มเล่นทั้งคาราเต้ มวย และ ปันจักสีลัต ที่เดินสายแข่งขันตลอดระยะเวลา 4 ปี ขณะกำลังเรียนที่ มรภ.สงขลา โดยมีเป้าหมายใหญ่คือ การเข้าร่วมทีมชาติไทยไปร่วมชิงชัยยังสนามต่างประเทศในวันข้างหน้า


                กิ๊ฟ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นนักกีฬาปันจักสีลัตว่า เกิดความสนใจในกีฬาประเภทนี้หลังได้รับคำแนะนำจาก อ.พลากร นัคราบัณฑิต และ อ.ฐาปนวัฒน์ สุขปาละ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพลศึกษา ให้ไปเข้าร่วมอบรมปันจักสีลัตพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปี 1 และมีโอกาสได้ลงแข่งในปีนั้นเลย แต่ด้วยความที่เคยเล่นกีฬาคาราเต้มาก่อน ทำให้เกิดความสับสนทั้งในเรื่องของกระบวนท่า กติกาในเกมการแข่งขัน เนื่องจากทั้งสองประเภทกีฬามีพื้นฐานใกล้เคียงกัน เธอจึงศึกษาการเล่นกีฬาปันจักสีลัตอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ เพื่อมุ่งสู่นักกีฬาอาชีพตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้


หลังจบการแข่งขันปันจักสีลัต เธอตัดสินใจไปอบรมต่อที่ จ. ปัตตานี ทำให้ฝีมือดีขึ้นในระดับหนึ่ง และยังเป็นสมาชิกชมรมเล็กๆ ของสุไหง-โกลก จ.นราธิวาส ฝึกซ้อมร่วมกับน้องๆ นักกีฬาทั้งรุ่นยุวชนและเยาวชน ซึ่งก่อนหน้าเคยเป็นเด็กติดเกมที่หันมาเล่นกีฬาตามคำชักชวน จนทุกวันนี้หลายคนพัฒนาฝีมือจนถึงขั้นติดทีมชาติ ยิ่งทำให้เกิดความสนุกและมีแรงผลักดันมากขึ้น ต่อมาเธอยังเข้าอบรมการเป็นโค้ชและผู้ตัดสินเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้สามารถอ่านเกมและเข้าใจเกณฑ์การให้คะแนนได้มากขึ้น[/size]


“ทุกๆ วันหลังเลิกเรียน กิ๊ฟจะมีเวลาพักประมาณ 1 ชม. ดูหนัง ฟังเพลง บางครั้งก็นอน และใช้เวลาฝึกซ้อมตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างอกไก่กับผักต้มเป็นมื้อเย็น ถ้าไม่มีเรียนจะออกกำลังกายตั้งช่วง 10 โมงเช้า ทำแบบนี้ทุกวันถึงแม้จะไม่มีการแข่ง เพื่อรักษาสภาพร่างกาย อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการพักผ่อน จะนอนก่อนเที่ยงคืนตลอด และไปเที่ยวบ้างในวันเสาร์อาทิตย์ ส่วนช่วงฤดูกาลแข่งขันจำเป็นต้องเคร่งครัดเรื่องวินัยมากขึ้น และลดน้ำหนักไว้ค่อยไปเพิ่มตอนใกล้แข่ง ป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้าในขณะนั้น สำหรับเรื่องกำลังใจก่อนลงสนามทุกครั้งแม่จะส่งข้อความมาบอกว่า เต็มที่นะ อีกทั้งยังได้จากทุกๆ ข้อความที่เพื่อนๆ ใน Facebook คอยส่งมาให้เสมอ อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำให้เราใจชื้นและอยากสู้ต่อไป แม้ในช่วงนั้นจะมีปัญหาชีวิตเข้ามาก็จะพยายามไม่สนใจและปล่อยวาง โฟกัสแต่สิ่งตรงหน้าเท่านั้น เพราะการเป็นนักกีฬาได้ต้องมีความอดทน มุ่งมั่น ตั้งใจ ในเมื่อเราเลือกเส้นทางนี้แล้วต่อให้กลับมาบาดเจ็บเขียวช้ำทั้งตัวก็ต้องรีบรักษาตัวเองให้หายเพื่อไปแข่งต่อ”



               กิ๊ฟ เล่าอีกว่า เธอได้ก่อตั้งชมรมปันจักสีลัตขึ้นมาในมหาวิทยาลัย เพื่อให้คนที่สนใจมีโอกาสได้ออกกำลังกายด้วยกัน โดยไม่ได้มุ่งหวังว่าทุกคนจะต้องเป็นนักกีฬา บางคนมาเพื่อลดน้ำหนัก ส่วนรุ่นน้องหลายคนที่มีแววอยากลงแข่งก็สนับสนุนเต็มที่ โดยนำเอาประสบการณ์จากการไปแข่งของตัวเอง และเทคนิคต่างๆ ที่จดจำมาจากโรงเรียนกีฬา มาฝึกซ้อมและแนะนำให้กับคนที่สนใจ เธอจึงรู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าหากเรียนจบไปแล้วจะไม่มีใครสานต่อ และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คิดภาพในอนาคตไว้ว่า หลังจากเรียนจบที่ มรภ.สงขลา แล้ว จะไปเรียนต่อระดับปริญญาโทด้วยโควต้าด้านกีฬา หลังจากนั้นจะสอบบรรจุเป็นครูพละ ความฝันคือช่วงกลางวันเป็นคุณครู ตกเย็นเป็นโค้ชฝึกซ้อมให้กับเด็กๆ ในโรงยิมของตัวเอง เพราะเธอเชื่อว่ามีหลายคนที่สนใจกีฬาชนิดนี้ เพียงแต่อาจไม่ได้รับโอกาส   


“ทุกวันนี้กิ๊ฟหายขาดจากโรคไต อีกทั้งระบบต่างๆ ภายในร่างกายดีขึ้น จึงอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเอง แค่ออกมาเคลื่อนไหวร่างกายเล็กๆ น้อยๆ เต้นแอโรบิค วิ่ง เดินเบาๆ  ไม่ต้องหักโหมแบบนักกีฬา และดื่มน้ำเยอะๆ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมด้วยนมแคลเซียมสูง ไม่ว่าวัยไหน อาชีพอะไร ก็สามารถทำได้เป็นประจำและให้ผลดีกับตัวเองแน่นอน”



สิ่งที่ “กิ๊ฟ” นรินทิรา เรืองโรจน์ อยากบอกก็คือ ไม่มีใครประสบความสำเร็จตั้งแต่ต้น คนที่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ได้ ล้วนเคยบาดเจ็บหกล้มมาก่อน เพียงแต่พวกเขาลุกขึ้นมาเดินหน้าต่อโดยใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าคนทั่วไป เช่นเดียวกับที่เธอสามารถก้าวข้ามความเจ็บป่วย จนสามารถขึ้นมายืนหยัดอยู่ในวงการปันจักสีลัตเช่นทุกวันนี้ได้