ศูนย์ข่าวชาวบ้านนิวส์
Khawchawbannews

มรภ.สงขลา จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ “วค. แต่แรก”ฉลอง 100 ปี โรงเรียนฝึกหัดครู

มรภ.สงขลา จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ “วค. แต่แรก”ฉลอง 100 ปี โรงเรียนฝึกหัดครู สู่มหาวิทยาลัยราชภัฏ



   มรภ.สงขลา จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ วค. แต่แรก ฉลอง 100 ปี โรงเรียนฝึกหัดครูสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะฯ เชิดชูคุณค่าวิถีชุมชน สะท้อนตัวตนรากแก้วของแผ่นดิน

 
ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2562 “100 ปี โรงเรียนฝึกหัดครู สู่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา : วค. แต่แรก” ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม-5 สิงหาคม ว่า ได้รับเกียรติจาก นายวีรนันทน์  เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี มรภ.สงขลา รวมทั้งส่งเสริมภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม สร้างความมีส่วนร่วมด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับเครือข่าย ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมไทยทุกภูมิภาคและอาเซียน ทั้งยังเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์เกษียณและศิษย์เก่าผู้ทำคุณประโยชน์ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม


    กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีบวงสรวงและสักการะทวดช้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย ลานวัฒนธรรมของคณะต่างๆ การประชุมและสัมมนาวิชาการ การแสดงพื้นบ้านภาคใต้ หนังตะลุง โนรา การแสดงทางวัฒนธรรม 4 ภาค การแสดงต่างประเทศ การจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและสินค้าราคาถูก มหกรรมศิลปวัฒนธรรมและวิชาการ มอบโล่เชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ด้านศิลปวัฒนธรรม “ปิตาภรณ์แผ่นดิน” อบรมเชิงปฏิบัติการอารยนาฏกรรมอาเซียน อบรมเชิงปฏิบัติการสืบสานวัฒนธรรมสร้างสรรค์จากเครื่องแต่งกายโนราสู่การเพิ่มรายได้


    ด้าน อาจารย์โอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า  มรภ.สงขลา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจในการส่งเสริม เผยแพร่ อนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาติ การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมเป็นภารกิจสำคัญในการส่งเสริมเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรม ทางมหาวิทยาลัยจึงเห็นความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือเป็นรากแก้วของแผ่นดิน วัฒนธรรมเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตที่ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ ได้พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต โดยแสดงออกในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา ศิลปะการแสดง ฯลฯ


     อาจารย์โอภาส กล่าวอีกว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนัก มีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเผยแพร่และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณค่าความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรมไทย ทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยมและความเป็นไทย เนื่องจากปัจจุบันวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกละเลยและมีการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่น้อย เช่น การแต่งกาย ภาษาพูด รวมทั้งประเพณีและวิถีชีวิตที่ดีงาม ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมได้มีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา หากมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายกันในพื้นที่ไม่ได้รับการสืบสานและอนุรักษ์ฟื้นฟู รวมถึงการพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่าทางสังคมและจิตใจทำให้คุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมลดน้อยไปจนแทบจะสูญหาย วัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมองค์ความรู้ในแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่มีภูมิปัญญาหลากหลาย ควรที่จะได้รับการถ่ายทอดเยาวชนรุ่นหลังสืบไป


    “การอนุรักษ์เป็นหนทางหนึ่งที่ยั่งยืนในการรักษา ฟื้นฟู สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนให้ดำรงอยู่ในท้องถิ่น การเรียนรู้ภูมิปัญญาให้นักศึกษาเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาจากผู้รู้ในชุมชน สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ ถ่ายทอดประมวลผล ตลอดจนสนับสนุนให้นักศึกษาและชุมชน โดยตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน มีความเข้าใจรากเหง้าความเป็นวัฒนธรรม แบ่งปัน เกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการศึกษาเรียนรู้วิถีการดำรงชีวิต ชุมชนภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีมาช้านาน บนพื้นฐานของธรรมชาติที่เกี่ยวพันสอดคล้องกันกับวิถีชีวิตชุมชน” ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าว