วันศุกร์, 23 พฤษภาคม 2568

“Fake News อีกแล้ว! ระวังอย่าหลงเชื่อ!! ข่าวปลอม เรื่องการเยียวยาผู้มอบตัว รับคนละ 1 ล้านบาท – ย้ำไม่มีมูลความจริง”

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์และมีการแชร์ต่ออย่างแพร่หลายว่า “รัฐเตรียมเยียวยาคนละ 1 ล้านบาท ให้กับผู้หลงผิดที่มอบตัว 5 คน หลังเหตุปะทะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ขอเรียนให้ทราบว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข่าวปลอม ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด

จากข้อมูลที่เขียนในเพจเฟซบุ๊ค ที่ใช้ชื่อว่า Sam Sam ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการปิดล้อมเป้าหมาย และเกิดการปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัย โดยมีผู้มอบตัว 5 คน และอีก 2 คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ แต่จากข้อความที่ถูกบิดเบือนในสื่อสังคมว่า ผู้มอบตัวจะได้รับเงินเยียวยาคนละ 1 ล้านบาทนั้น ไม่มีมูความจริงแต่อย่างใด และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง

ข้อเท็จจริงเรื่องการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีระเบียบที่ชัดเจน ภายใต้กรอบของ “ระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555” ซึ่งมุ่งเน้นการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ ไม่ใช่กรณีของผู้ที่มอบตัวจากการกระทำผิดกฎหมาย โดยมีประเด็นที่สามารถเยียวยาได้ตามระเบียบ ดังนี้

กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ เยียวยาเบื้องต้น 500,000 บาท และขอเพิ่มได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท

กรณีถูกควบคุมตัวตามกฎหมายความมั่นคงแล้วพบว่าไม่มีความผิด ชดเชย 400 บาท/วัน พร้อมเงินช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจ 30,000 บาท

กรณีได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน ซึ่งประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ , ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ , ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี หรือขอความเป็นธรรม , ค่าใช้จ่ายด้านจิตใจและศาสนา (เช่น สนับสนุนการเดินทางไปประกอบศาสนกิจ) , ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน ช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 หรือตามมติ ครม.️

ในส่วนการมอบตัวจากการกระทำผิดตามกฎหมาย ไม่เข้าข่ายการได้รับเงินเยียวยาในลักษณะนี้ ยกเว้นมีการละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์และพิจารณาตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ขอให้พี่น้องประชาชน อย่าหลงเชื่อ หรือแชร์ข้อมูล และโปรดใช้วิจารณญาณในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะเชื่อ หรือก่อนส่งต่อข้อมูลดังกล่าวออกไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม และขอให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลจากสื่อที่เป็นทางการสามารถพิสูจน์ตัวตนได้ หรือสามารถตรวจสอบได้ที่ สายด่วน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หมายเลข 1341 หรือสายตรงแม่ทัพภาคที่ 4 หมายเลข 06 -1173 – 2999 ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกท่าน ช่วยกันหยุดยั้งการแพร่กระจายของข่าวปลอม เพื่อความสงบเรียบร้อยในสังคม และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ การเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

#ไม่เอาBRN#ไม่เอาบีอาร์เอ็น

#ไม่เอาความรุนแรงชายแดนใต้

#แม่ทัพภาคที่4#แม่ทัพไพศาล

#ศูนย์ประชาสัมพันธ์

#กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า