วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

รายงานพิเศษจากเวทีเสวนา “ปลดล๊อก กระท่อม พืชเศรษฐกิจ…ทางเลือกของชุมชน”

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ปลดล็อก    พืชกระท่อม พ้นยาเสพติดประเภท 5 ให้เป็นไปตามบริบทสังคมไทย มีผลวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นผลให้ชาวบ้านสามารถกิน ปลูก และขายได้อย่างเสรี ยกเว้นการนำไปผสมกับสารเสพติดอื่นๆ จากการเผยแพร่กฎหมายฉบับดังกล่าวนำมาสู่เวทีเสวนาในหัวข้อ: ปลดล๊อก กระท่อม พืชเศรษฐกิจ…ทางเลือกของชุมชน”  จัดโดยสถาบันปฎิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรการ  มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นการเสวนาออนไลน์ Facebook Live  ผ่านทาง Facebook Fanpage : WeTSU มหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันอังคารที่ 24 สิงหาคม 2564  เวลา 13.30-16.00น. โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดการเสวนา นอกจากนี้ในการเสวนาดังกล่าวยังได้สาธิตวิธีการทำเครื่องดื่มม็อกเทลกระท่อม โดยเชฟจากโรงแรมเดอะไพน์ สงขลา

ในการเสวนาครั้งนี้ ได้เชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาร่วมแสดงทัศนะเกี่ยวกับทิศทางของพืชกระท่อมภายหลัง พรบ.ปลดล็อกพืชกระท่อมมีผลบังคับใช้ ประกอบด้วยนายเกษม บุญชนะ ประธานสมัชชาพืชกระท่อมแห่งชาติ ,นายสุนทร รักษ์รงค์  ที่ปรึกษากรรมมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม , รองศาสตราจารย์ ดร. สรพงศ์ เบ็ญจศรี  คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พนิตา ก้งซุ่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ,อาจารย์เอกราช สุวรรณรัตน์ คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยทักษิณ ดำเนินการเสวนาโดย ดร. บัณฑิต ทองสงฆ์  รักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ

รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์  กล่าวว่า กฏหมายที่กำกับ ควบคุม พืชกระท่อมว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสเนื่องจากองค์ความรู้ทางวิชาการ และภูมิปัญญาของพืชกระท่อมหายไป มหาวิทยาลัยทักษิณในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมจะเป็นส่วนเชื่อมประสานและสร้างการสื่อสารสาธารณะ พร้อมสนับสนุนทีมนักวิจัยในการศึกษาพืชกระท่อม เพื่อการผลิตยาและพืชสมุนไพรพื้นถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กล่าวคือ ต้นน้ำ เรามีทีมของคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน ในการสนับสนุนและศึกษาเรื่องของการเพาะปลูกพืชกระท่อม และส่งเสริมแนะนำวิธีการเพาะปลูกให้แก่ผู้สนใจ กลางน้ำ นำโดยคณะวิทยาศาสตร์ที่จะวิจัยและพัฒนาเรื่องของสารสกัดที่มีอยู่ในพืชกระท่อมสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ทางยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง หรืออื่น ๆ ส่วนปลายน้ำ มุ่งเน้นในเรื่องของการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ยังสามารถรวบรวมองค์ความรู้ต่อยอดเป็นความรู้สาธารณะของชุมชนที่จะถ่ายทอดสู่ชุมชนในวงกว้างอันเป็นที่มาของการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และผู้สนใจต่อไป”

นายสุนทร รักษ์รงค์  ที่ปรึกษากรรมมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนสำหรับการปลดล็อกกระท่อมจากยาเสพติด ว่า “พืชกระท่อม ซึ่งผมเป็นคนอภิปราย โดยชี้แจงว่า กระท่อม กำลังจะถูกปลดล็อกจากยาเสพติดในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 นี้ ดังนั้นจึงควรที่จะนับว่าวันที่ 24 สิงหาคม เป็น “วันกระท่อมแห่งชาติ” แต่ตอนนี้มี พ.ร.บ.พืชกระท่อม กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เท่าที่ผมดูร่างอย่างคร่าว มีความกังวล ว่าข้อกำหนดและบทบัญญัติ พ.ร.บ.พืชกระท่อมจะมีปัญหาคล้ายกัญชา อย่าลืมว่ากัญชาเราถูกหลอกมาตั้งแต่เขาชงเรื่อง เพราะทุกฝ่ายรู้ว่ากัญชา ติดอนุสัญญากฎหมายระหว่างประเทศ จึงยังเป็น  ยาเสพติด ในขณะที่กระท่อมไม่ได้ติดอนุสัญญากฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด  ระยะเวลา 78 ปี ที่พืชสมุนไพรกระท่อมถูกบังคับให้เป็นผู้ร้าย โดดยัดข้อหายาเสพติด ประเภทที่ 5 เปลี่ยนสภาพของกระท่อมเป็นยาเสพติด นำสู่การเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมายหลายต่อหลายครั้ง จนในที่สุด พรบ. พืชกระท่อม     ปลดล็อกกระท่อมจากยาเสพติดก็มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ต้องการให้มองในประเด็นหลักๆ คือ ประเด็นที่ 1 การถูกบิดเบือนว่ากระท่อมเป็นสารเสพติด แต่แท้จริงแล้วกระท่อมเป็นสมุนไพรตำรับยาโบราณ ประเด็นที่ 2 การต่อสู้กับความอยุติธรรมของผู้บังคับใช้กฎหมาย และการแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจของรัฐ  และประเด็นที่ 3 การต่อสู้กับกับดักทางด้านกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ซึ่งเป็นกระบวนการที่ขัดขวางการต่อยอดงานวิจัยและการพัฒนาพืชกระท่อมเพื่อการใช้ประโยชน์ โดยบริบทของกฎหมายฉบับนี้ได้ปลดล็อกพืชกระท่อม ให้สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ แต่ก็ยังมีข้อยกเว้น กล่าวคือ ใจความสำคัญ ตอนนี้ทางรัฐมนตรีได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการป้องและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) เร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทราบถึงข้อกฎหมายที่ถูกต้อง เช่น ประชาชนสามารถที่จะปลูกบริโภคกระท่อมตามวิถีชาวบ้านจะนำมาเคี้ยวนำมาต้มน้ำดื่มโดยไม่ผสมสารเสพติดอื่นใดหรือจะซื้อขายภายในประเทศได้ ข้อสำคัญตอนนี้คือ แม้จะสามารถปลูกและบริโภคได้ก็ห้ามนำไปผสมสารเสพติดหรือที่รู้จักกันในชื่อ 4×100 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันพืชกระท่อมเป็นยาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ในหลายประเทศมิได้กำหนดให้ พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ ที่มีการบริโภคพืชกระท่อม ตามวิถีชาวบ้าน สมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งกระท่อมจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและน่าจับตามอง

อาจารย์เอกราช สุวรรณรัตน์ คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ปลดล๊อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ส่งผลอะไรบ้างในเบื้องต้น?ประชาชนสามารถปลูกและขายได้  ปล่อยผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมในวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมาทั้งหมดให้ถือว่าไม่เคยกระทำความผิด ผู้ถูกจับกุมหรือจำเลยในชั้นต่างๆ จะได้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดและผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมต่อไป ในขณะเดียวกันมีข้อห้ามคือห้ามนำไปผสมสารเสพติดอื่นๆ

นายเกษม บุญชนะ ประธานสมัชชาพืชกระท่อมแห่งชาติ กล่าวว่า “ใบกระท่อมในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ กระท่อมชนิดก้านใบสีแดง กระท่อมชนิดก้านใบสีเขียว (แตงกวา) และกระท่อมชนิดขอบใบหยัก (หางกั้ง) พืชกระท่อมแสดงออกถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น 78 ปี ที่นำกฎหมายมาบังคับใช้ทำให้วิถีชีวิตที่ควรจะเป็นสูญหายไป ชาวบ้านกินใบกระท่อมเป็นยา เพราะชาวบ้านเชื่อว่ากระท่อมเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านรักษาโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะเบาหวาน ความดัน คลายความเครียด โดยจะเลือกกินพันธุ์ที่มีใบมันวาว และเลือกที่จะกินใบคู่ที่ 3-4 ไม่ทานยอดเพราะอ่อนเกินไป ส่วนใบคู่ที่ 5-7 ส่วนใหญ่จะนำไปต้มทำเป็นเครื่องดื่ม

รองศาสตราจารย์ ดร. สรพงศ์ เบ็ญจศรี  คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้แนะนำวิธีการปลูกพืชกระท่อมว่า การปลดล็อกกระท่อมจากยาเสพติดจะเป็นผลดีต่อการศึกษา พัฒนาและขยายพันธุ์กระท่อมไปสู่เชิงพาณิขย์ได้สะดวกขึ้น เพราะอิสระ คล่องตัว กระท่อมแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน แต่ที่นิยมปลูกรับประทานคือพันธุ์ก้านแดง กระท่อมเป็นพืชที่ไม่ต้องการแสงมาก จึงเหมาะกับการปลูกแซมในสวนยาง เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ 1 ปี เป็นต้นไป และสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี การปลูกกระท่อมต้องระวังแมลงศัตรูพืช คือด้วงและเพลี้ย เนื่องจากจะกัดกินใบอ่อนและยอดอ่อนของกระท่อม ซึ่งพืชกระท่อมเป็นพืชที่เลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์จากใบ เมื่อไม่มีใบก็ไม่มีประโยชน์ ปลูกง่าย ขึ้นได้กับดินทุกประเภท แต่สิ่งที่ควรระวังคือ การใช้ยาฆ่าแมลงจะต้องคำนึงถึงช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยว กรณีที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ควรเว้นระยะเก็บเกี่ยวประมาณ 30 วัน เพื่อลดสารเคมีตกค้างในใบ ใช้วิธีการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เพราะเป็นพืชที่ขึ้นง่าย โตเร็ว เลี้ยงง่าย และต้านทานโรคได้ดี มีสรรพคุณทางยาสูง จึงถือได้ว่ากระท่อมจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พนิตา ก้งซุ่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จากการศึกษาวิจัยพบว่าสารเคมีที่พบในพืชกระท่อมมีหลากหลายกลุ่ม เช่น alkaloids, flavonoids, triterpenes, phenolic compounds โดยสารกลุ่ม indole alkaloids เป็นสารกลุ่มใหญ่ที่พบในพืชกระท่อม และมีสารสำคัญหลัก คือ สารไมทราไจนีน (mitragynine) เป็นแอลคาลอยด์ที่พบมากที่สุดในใบกระท่อมของไทยสูงถึงร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับปริมาณสารสกัด alkaloids ทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบสาร alkaloids ตัวอื่นๆ ได้แก่ เซเว่นไฮดรอกซี-ไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) มีฤทธิ์แรงกว่า mitragynine 4 เท่า โครแนนทิดีน (corynantheidine) และสเปคชิโอชิลเลียทีน (speciociliatine) ซึ่งพบว่าออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทคล้ายมอร์ฟีนแม้จะมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีน แต่มีข้อดีกว่าตรงที่ไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้คลื่นไส้อาเจียน พัฒนาการในการติดยาช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี ในใบกระท่อมทำปฏิกิริยากับร่างกายมีผลต่อเซลล์ประสาทบางชนิดในร่างกายในการรับรู้ความเจ็บปวดถูกนำมาใช้รักษาอาการเหล่านี้ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ใบกระท่อมช่วยให้มีสมาธิและระงับประสาท ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและควบคุมอารมณ์ไปในทางที่ดีขึ้น ช่วยในเรื่องการเผาผลาญ  แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง ปวดเบ่ง แก้บิด เมื่อก่อนจะมีข้อจำกัดในการนำพืชกระท่อมมาทดลอง เพราะติดกฎหมายยาเสพติด เมื่อมีการปลดล๊อกพืชกระท่อมจะทำให้การทำงานวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมทำง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลงานวิจัยและสิ่งค้นพบใหม่ๆ เกี่ยวกับพืชกระท่อมตามมาอีกมากมาย