วันอังคาร, 7 พฤษภาคม 2567

คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางการศึกษาจัดงาน Open House ระยะที่ 2 ยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี 32 โรงเรียน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ณ ห้องน้ำพราวบอลรูม โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี 32 โรงเรียน จัดโครงการนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 (Open House 2024) โดยโครงการวิจัย “การพัฒนากลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งสามเขตพื้นที่ จำนวน 16 โรงเรียน สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน จำนวน 11 โรงเรียน และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา จำนวน 3 โรงเรียน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดตามแนวคิด Smart City, Smart People บนพื้นฐานแนวคิด SMART+I ระยะที่ 2 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมี นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน รศ. ดร.อาทิตย์ อินทรสิทธิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายหลักสูตรและส่งเสริมการเรียนรู้ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับ และ ดร.สุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี กล่าวรายงาน ตลอดจน คณะผู้บริหาร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมฯ

รศ. ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนากลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรม การบริหารและการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดปัตตานี ว่า จังหวัดปัตตานี ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาในท้องถิ่น โดยมุ่งมั่นส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านกรอบหลักสูตร Pattani Heritage ซึ่งสนับสนุนให้นักเรียนไม่เพียงแต่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้จากสภาพจริงของชุมชน การใช้ระบบการบริหารแบบ Objective Key Results (OKRs) ได้ช่วยให้โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดเป้าหมายและวัดผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน ทำให้เห็นการปรับปรุงและความก้าวหน้าในทิศทางที่ต้องการ นอกจากนี้ยังเน้นการสร้างการเรียนรู้ที่มีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่รอบด้านและเกื้อหนุนต่อการพัฒนาทักษะของนักเรียนในหลากหลายด้าน ผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีการพัฒนาทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออกเขียนได้, การคิดวิเคราะห์, และการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการค่อยๆ เดินเข้าใกล้เป้าหมายที่สำคัญของจังหวัดตามแนวคิด SMART + I อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาได้อย่างยั่งยืน

นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 : Open House 2024 ในครั้งนี้ นับเป็นร่วมมือกันทำงานเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาจังหวัดปัตตานีไม่ให้หยุดนิ่ง เกิดเป็นความเคลื่อนไหวทั้งในมิติการกระตุ้นคิด การผลักดันทั้งในเชิงนโยบายและในเชิงการปฏิบัติงาน ตลอดจนร่วมกันจับมือทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานให้เกิดแก่บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ทั้งสิ้น การจัดงาน นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 : Open House 2024 ได้ตอบสนองแก่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ขณะเดียวกัน พบว่าหน่วยงานทุกภาคส่วนได้สร้างแนวปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจหวังไว้ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ปลายทางก็เป็นไปเพื่อพัฒนาผู้เรียนซึ่งล้วนแต่เป็นลูกหลานของเราทั้งในมิติองค์ความรู้ สมรรถนะ ทักษะ และเจตคติ