วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

เกษตรทฤษฎีใหม่

เกษตรทฤษฎีใหม่

จากปัญหาการทำเกษตรของไทยที่เกษตรกรขาดที่ดินทำกิน ทั้งยังต้องดิ้นรนทำในปริมาณมาก เป็นหนี้เป็นสิน ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำมาแต่ได้น้อยเนื่องจากปลูกเฉพาะพืชเชิงเดี่ยว ราคาขายผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค ด้วยอัฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้พระราชทาน “ทฤษฎีใหม่” ในการจัดการพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 15 ไร่ เน้นการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการไร่นาอย่างเหมาะสม มีการจัดสรรแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตรแบบผสมผสานให้ใช้ได้ในหน้าแล้ง ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรเลี้ยงตัวเองได้ มีรายได้และอาหารไว้บริโภคตลอดปี เป็นการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรชาวไทย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสว่า “…ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน…”

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำการศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ในพื้นที่ส่วนพระองค์ขนาด 16 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ใกล้วัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และทรงมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาที่ทรงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมโครงการของรัฐ ทั้งนี้ก่อนที่จะทรงนำเอกสารออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2537 นั้น ทรงให้จัดตั้ง “ศูนย์บริหารพัฒนา” ตามแนวพระราชดำริ อยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรโดยประสานความร่วมมือระหว่าง วัด ราษฎรและรัฐ ทำการเผยแพร่อาชีพการเกษตรและจริยธรรมแก่ประชาชนในชนบท โดยทรงหวังว่าหากประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นแนวทางสาธิตในท้องที่อื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาด้านการเกษตรนั้น ก็คือแนวคิดและมรรควิธีที่รู้จักกันในนาม

“เกษตรทฤษฎีใหม่”

แนวทางหรือหลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่

        ขั้นที่ 1 ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น คือการจัดสรรที่ดินระดับไร่นา ซึ่งมีการจัดการดินและน้ำเพื่อใช้ในการทำเกษตรขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10

30 % เป็นสระน้ำสำหรับกักเก็บไว้ใช้ในหน้าแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำ

30 % สำหรับปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำครัวเรือน

30 % ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชสวน พืชผักและสมุนไพร ฯ เพื่อใช้กินในชีวิตประจำวันและจำหน่าย

10 % เป็นที่อยู่อาศัย ที่เลี้ยงสัตว์ โรงเรือนอื่น ๆ ถนน คันดิน กองฟาง โรงหมักปุ๋ย ลานตาก สวนไม้ดอกไม่ประดับ

ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น 30 : 30 : 30 : 10

  • สระกักเก็บน้ำ
  • นาข้าว
  • สวนปลูกพืชชนิดต่าง ๆ
  • ที่อยู่อาศัย

ขั้นที่ 2 ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง คือการรวมพลังกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  1. การผลิต ร่วมมือกันตั้งแต่เตรียมดิน หาพันธุ์ หาน้ำ เตรียมปุ๋ย เพื่อเพาะปลูก
  2. การตลาด เตรียมจำหน่ายเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ปลูกเอง แปรรูปเอง ขายเอง รวมตัวกันขายเพื่อให้ได้ราคาดี เป็นการตัดวงจรพ่อค้าคนกลางไปในตัว
  3. ความเป็นอยู่ เกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีสมฐานะ
  4. สวัสดิการ แต่ละชุมชนควรจัดตั้งกองทุนไว้ให้สมาชิกเมื่อจำเป็น เช่น การเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต
  5. การศึกษา มีโรงเรียนในชุมชนเพื่อส่งเสริมการศึกษา นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสอดแทรกในการสอนและเน้นให้นักเรียนดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองให้ได้
  6. สังคมและศาสนา ชุมชนควรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาโดยมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว

        ขั้นที่ 3 ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อผ่านพ้นไป 2 ขั้นแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ที่ดีขึ้น มีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้น และมีการจัดหาแหล่งเงินทุนเข้ามาช่วยในกลุ่มสหกรณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกอีกด้วย เช่น เกษตรกรจำหน่ายข้าวได้ในราคาสูง เป็นการขายตรงสู่มือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง ,เกษตกรซื้อเครื่องอุปโภค บริโภคได้ในราคาต่ำเพราะรวมกันซื้อมาก ๆ (รวมกลุ่มซื้อในนามสหกรณ์) เป็นต้น


เกษตรทฤษฎีใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นา เน้นการพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือตนเองเป็นหลัก โดยเน้นไปที่การพึ่งพาตนเองในด้านอาหารก่อน เช่น ข้าว พืชผักผลไม้ ฯ จากนั้นค่อยไปเน้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ใน 3 ขั้นตอนที่กล่าวมา และทรงพยายามเน้นมิให้เกษตรกรพึ่งพาการปลูกพืชชนิดเดียวซึ่งมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาที่ผันผวน ควบคุมไม่ได้และความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ฯ

        เกษตรทฤษฎีใหม่นำไปสู่การทำเกษตรที่ยั่งยืนและเกษตรธรรมชาติ ที่เน้นไปที่การลดคาใช้จ่ายและการพึ่งพิงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นพืชหมุนเวียนเพื่อให้ได้ปุ๋ยจากธรรมชาติ โดยเป็นการหันมาใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติแทนปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

อัตราพื้นที่ 4 ส่วนของเกษตรทฤษฎีใหม่ 30:30:30:10

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือเกษตรยั่งยืน มีลักษณะการผลิตที่เลียนแบบระบบนิเวศของธรรมชาติ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้และส่งผลเสียต่อดินในระยะยาว ปลูกพืชที่เกื้อกูลกันเพื่อสร้างความสมดุลของธรรมชาติในระยะยาว เป็นการจัดการระบบเกษตรที่ยั่งยืน

        เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานในปวงชนชาวไทย จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ที่มีต่อประสพนิกรชาวไทยเหลือคณานับ

รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ที่มา : https://web.ku.ac.th/king72/2542-09/res05_02.html