วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

“ผศ.หิรัญวดี สุวิบูรณ์-อ.เยาวลักษณ์ เตี้ยนวน” คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา แทคทีมคว้ารางวัลนำเสนอผลงานวิจัย ภาคโปสเตอร์ เวทีประชุมวิชาการระดับชาติ

2 อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา แทคทีมคว้ารางวัลนำเสนอผลงานวิจัยภาคโปสเตอร์ระดับดีเด่นและระดับดี เวทีประชุมวิชาการระดับชาติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1 จากผลงาน“ประสิทธิผลของการแช่เท้าด้วยสมุนไพรรางจืดและย่านาง เพื่อลดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างฯ” และ ผลงาน “ประสิทธิภาพของสารสกัดชนิดน้ำและผงจากใบกระถินและใบยาสูบในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย”

เมื่อเร็วๆ นี้อาจารย์เยาวลักษณ์ เตี้ยนวน อาจารย์ประจำหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยภาคโปสเตอร์ระดับดีเด่น กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จากผลงานเรื่อง “ประสิทธิผลของการแช่เท้าด้วยสมุนไพรรางจืดและย่านาง เพื่อลดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดของเกษตรกรกลุ่มเสี่ยง” และ ผศ.หิรัญวดี สุวิบูรณ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยภาคโปสเตอร์ระดับดี กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ จากผลงานเรื่อง “ประสิทธิภาพของสารสกัดชนิดน้ำและผงจากใบกระถินและใบยาสูบในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย”

ในงานการประชุมวิชาการระดับชาติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 1 “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน : 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่” ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่

สำหรับงานวิจัยเรื่อง “ประสิทธิผลของการแช่เท้าด้วยสมุนไพรรางจืดและย่านาง เพื่อลดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดของเกษตรกรกลุ่มเสี่ยง” ซึ่งจัดทำโดย อาจารย์เยาวลักษณ์ เตี้ยนวน และผู้ร่วมวิจัย น.ส.โชติกา คงเมือง อาจารย์ ดร.วรพล หนูนุ่น เป็นการวิจัยกึ่งทดลองโดยทำการศึกษาในเกษตรกรชุมชนบ้านชะมวง ต.ชะมวง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ที่มีผลการคัดกรองความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยใช้กระดาษทดสอบโคลีนเอสเตอเรส(Cholinesterase reactive paper) จำนวน 22 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 แช่เท้าด้วยสมุนไพรรางจืด 12 คน กลุ่มที่ 2 แช่เท้าด้วยสมุนไพรใบย่านาง 10 คน เป็นเวลา 15 นาทีติดต่อกัน 7 วัน วัดผลจากการตรวจวัดระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดโดยใช้กระดาษทดสอบโคลีนเอสเตอเรส ก่อนและหลังการทดลอง

พบว่าการแช่เท้าด้วยสมุนไพรรางจืดและย่านาง ที่ใช้น้ำอุณหภูมิ 40-42 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 นาทีติดต่อกัน 7 วัน ส่งผลให้การทำงานของเอมไซม์โคลีนเอสเตอเรสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ให้ผลที่ไม่แตกต่างกันระหว่างการแช่เท้าด้วยสมุนไพรรางจืดและย่านาง

ทั้งนี้ ระดับความเปลี่ยนแปลงผลที่ได้อาจขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ดำเนินการและวิธีการที่ใช้ รวมถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วย จึงควรมีการศึกษาวิจัยทางห้องปฏิบัติการและทางคลินิกเพื่อผลเชิงประจักษ์ ซึ่งในมุมมองของศาสตร์การแพทย์ทางเลือกระบุว่า เท้าเป็นศูนย์รวมของระบบการทำงานของร่างกายทั้งระบบประสาท ระบบไหลเวียนเลือดและระบบขับถ่าย การแช่เท้าจึงเป็นกรรมวิธีหนึ่งที่ช่วยกำจัดสารพิษในรางกาย และทำให้การทำงานของระบบร่างกายดีขึ้น แต่ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอที่จะสรุปผลว่าการขับสารพิษผ่านทางการแช่เท้าสามารถขับสารพิษได้จริงหรือไม่ จึงควรมีการศึกษาในประเด็นดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของงานวิจัยเรื่อง “ประสิทธิภาพของสารสกัดชนิดน้ำและผงจากใบกระถินและใบยาสูบในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย” ซึ่งจัดทำโดย ผศ.หิรัญวดี สุวิบูรณ์ ผลการวิจัยพบว่า สารสกัดชนิดน้ำจากใบยาสูบพันธุ์พื้นเมืองและใบกระถินมีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายสูงกว่าสารสกัดชนิดผง ช่วงความเข้มข้นที่เหมาะจะนำสารสกัดไปใช้ประโยชน์แบบชนิดน้ำที่ 3 %v/v และชนิดผงที่ 3 %w/v เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการควบคุมลูกน้ำยุงลายได้สูงสุด เมื่อเปรียบเทียบค่า R2 ที่ระยะเวลา 12 และ 24 ชั่วโมง มีแนวโน้มลดลง ถึงแม้สารสกัดชนิดผงมีประสิทธิภาพต่ำกว่าเล็กน้อยสารสกัดชนิดน้ำ แต่สามารถใช้งานได้สะดวกกว่าเนื่องจากเก็บรักษาได้ง่าย แต่ไม่ควรนำสารสกัดจากใบยาสูบ (พันธุ์พื้นเมือง) ชนิดน้ำและชนิดผงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากอาจมีผลกับสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ