วันอังคาร, 7 พฤษภาคม 2567

“รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ แก้วพลอย” มรภ.สงขลา คว้ารางวัลบทความวิจัยดีเด่น ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางลดต้นทุนการขนส่งยางพารา

มรภ.สงขลา สุดปลื้ม “รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ แก้วพลอย” อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ทำวิจัยเรื่องการเลือกสถานที่ตั้งตลาดเครือข่ายและจัดเส้นทางการขนส่งยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เป็นการแก้ปัญหาการขนส่งยางพารา ช่วยลดต้นทุนการขนส่งของเกษตรกรชาวสวนยางที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง คว้ารางวัลบทความวิจัยดีเด่น สาขา Supply Chain and Logistics Management  

  เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ แก้วพลอย อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่น จากผลงานวิจัยเรื่อง “การเลือกสถานที่ตั้งและจัดเส้นทางการขนส่งโดยวิธีการค้นหาพื้นที่ใกล้เคียงขนาดใหญ่แบบปรับค่าได้” สาขาวิชา Supply Chain and Logistics Management ในการประชุมวิชาการข่ายงานวิศวกรรมอุตสาหการ ครั้งที่ 39 ประจำปี 2564 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการเลือกสถานที่ตั้งตลาดเครือข่ายยางพาราและการจัดเส้นทางการขนส่งโดยการประยุกต์ใช้วิธีการค้นหาพื้นที่ใกล้เคียงขนาดใหญ่แบบปรับค่าได้ วัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งยางพาราของเกษตรกรชาวสวนยาง และเลือกสถานที่ตั้งตลาดเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ภาคใต้มีปริมาณการปลูกยางพารามากที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากปริมาณความต้องการใช้ยางพาราที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการขยายตัวของพื้นที่ปลูกยางพาราภายในประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างรายได้และความมั่นคงเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับเกษตรกร โดยจัดตั้งตลาดกลางยางพารากระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมยางและกระจายผลผลิตยางพาราไปยังผู้ซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ในความเป็นจริงตลาดท้องถิ่นมีอิทธิพลต่อตลาดการซื้อขายยางพาราเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวสวนยางนิยมขายยางพาราผ่านพ่อค้าคนกลางหรือตลาดท้องถิ่น ที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านหรือตำบลต่างๆ ทำให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องราคาจากพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากเกษตรกรบางรายที่มีปริมาณการผลิตยางพาราน้อย ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าขนส่งจำนวนมากในการนำยางพาราไปขายยังตลาดกลาง ซึ่งต้องขนส่งยางพาราหลายเที่ยว เนื่องจากมีรถบรรทุกขนาดเล็ก

  ดังนั้น บทความวิจัยนี้จึงได้แก้ปัญหาการเลือกสถานที่ตั้งตลาดเครือข่ายและการจัดเส้นทางการขนส่งยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยมีผู้ขายทั้งหมด 503 ราย และมีตลาดกลางยางพาราจำนวน 2 แห่ง การแก้ปัญหาแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 การเลือกสถานที่ตั้งของตลาดเครือข่าย โดยวิธีการวิเคราะห์กลุ่มแบบไม่เป็นขั้นตอน ขั้นตอนที่ 2 การจัดเส้นทางการขนส่ง โดยวิธีการแบบประหยัด และ ขั้นตอนที่ 3 เป็นการหาค่าที่เหมาะสมด้วยวิธีการค้นหาข้างเคียงขนาดใหญ่แบบปรับค่าได้

                ผลการทดสอบพบว่า การเลือกสถานที่ตั้งตลาดเครือข่ายและการจัดเส้นทางการขนส่งยางพาราที่เหมาะสมคือ มีการจัดตั้งตลาดเครือข่ายจำนวน 12 จุด โดยมีขนาดความจุของตลาดเครือข่ายแบบไม่จำกัด จำนวน 2 จุด ตลาดเครือข่ายขนาดเล็ก จำนวน 7 จุด และตลาดเครือข่ายขนาดใหญ่ จำนวน 3 จุด โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำสุดเท่ากับ 227,231.73/วัน