วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

องคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน มรภ.สงขลา

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงาน มรภ.สงขลา ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

เมื่อวันที่ 24-25 เมษายน 2567 พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) เพื่อติดตามผลการดำเนินงานภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยได้รับฟังการบรรยายสรุป “การขับเคลื่อนงบพื้นฐาน มรภ.สงขลา” (วิธีการขับเคลื่อน โครงสร้างการบริหารโครงการ งบประมาณ และ KPI) จาก รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา ณ ห้องประชุมวิชัย รัตนากีรณวร ชั้น 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรับฟังการบรรยายสรุป “การยกระดับภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา มรภ.สงขลา” โดย ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพการศึกษา พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป “โมเดลผลิตครู มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (PTRU Model)” โดย ผศ.ดร.โสภณ ชัยวัฒนกุลวานิช คณบดีคณะครุศาสตร์

นอกจากนั้น พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้เยี่ยมชมการนำเสนอจุดเด่นของ มรภ.สงขลา ซึ่งประกอบด้วย หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ โดย อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ เวศยาสิรินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตร เป็นผู้ควบคุมดูแล ณ ชั้น 7 คณะวิทยาการจัดการ และหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ-ภาษาไทย โดย ผศ.ดร.โสภณ ชัยวัฒนกุลวานิช คณบดีคณะครุศาสตร์ ณ ชั้น 1 อาคารการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ และรับฟังการบรรยายสรุป “การขับเคลื่อนกิจการนักศึกษา มรภ.สงขลา” โดย อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา เพื่อยกระดับและส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ควบคู่กับความรักและภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยราชภัฏและความเป็นชาติไทย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านบริการและสวัสดิการแก่นักศึกษา

โอกาสเดียวกันนี้ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับการน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สู่การปฏิบัติของมหาวิทยาลัยราชภัฏ นับแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ให้แก่คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ เกือบ 600 คน ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ มรภ.สงขลา และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำนักศึกษาแต่ละคณะในการจัดกิจกรรม เพื่อพัฒนาและยกระดับการจัดกิจกรรมนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภูมิสังคม

สำหรับหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 และได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนแนวการเรียนการสอนมาเป็นลำดับ โดยในปีการศึกษา 2558 ที่ผ่านมา คณาจารย์ได้มีแนวคิดในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนผ่านการบูรณาการรายวิชาในหลักสูตรกับการปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง โดยใช้การประกวดแข่งขันเป็นฐานการเรียนรู้ และการผลิตบัณฑิตให้สามารถทำงานภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลายในเวลาเดียวกัน (Supertasker หรือ Multitasker)

ทั้งนี้ หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตได้ทดลองใช้แนวทางดังกล่าวมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ปรากฏผลสำเร็จทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จริงจนสามารถคว้ารางวัล รวม 241 รางวัลในระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา อาทิ รางวัลระดับนานาชาติรองชนะเลิศอันดับ 2 ภาพยนตร์สั้นไทย-ไต้หวัน จัดขึ้นโดยบริษัท Chinese Television System (CTS) ของไต้หวันและเครือข่าย ระดับระดับชาติ ได้แก่ รางวัลสารคดีเชิงข่าวดีเด่น และรางวัลชมเชย จำนวน 25 รางวัลจากโครงการประกวดสารคดีเชิงข่าววิทยุและโทรทัศน์สายฟ้าน้อย จากสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเป็นเวลา 9 ปีติดต่อกัน รวมทั้งรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศการประกวดคลิปวิดีโอ“VLOG THAILAND เที่ยวไทยไปให้สุด” โครงการสิงห์สร้างสรรค์คนทีวี จัดโดย บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท สาระดี จำกัด ในเครือบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรายการสารคดีเชิงข่าว “เรื่องจริงผ่านจอ” เป็นต้น ปัจจุบันหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตยังคงได้รับความนิยมจากนักเรียนในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก สามารถรับนักศึกษาเข้าเรียนได้ตามแผนการรับที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 100 คนในทุกปีการศึกษา

ในส่วนของการดำเนินงานด้านการศึกษาพิเศษของ มรภ.สงขลา มีหน้าที่หลักในการให้บริการช่วยเหลือทางการศึกษาแก่นักศึกษาที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (นักศึกษาพิการ) ให้สามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนได้อย่างเท่าเทียมกับนักศึกษาปกติทั่วไป ตลอดจนช่วยสนับสนุน แก้ปัญหา ลดอุปสรรคต่าง ๆ อันเกิดจากความต้องการจำเป็นพิเศษ ให้นักศึกษาสามารถบรรลุเป้าหมายของการศึกษาได้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล โดยให้บริการล่ามภาษามือในห้องเรียนและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย บริการผลิตสื่ออักษรเบรลล์ สื่อ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
ตลอดจนจัดทำโครงการกิจกรรมเพื่อพัฒนานักศึกษา การให้บริการให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เอกสารประกอบการเรียนการสอน การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับงานการศึกษาพิเศษ เป็นแหล่งการเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ของนักศึกษาหลักสูตรการศึกษาพิเศษ บุคลากรทั่วไป และเป็นสื่อกลางระหว่างคณาจารย์และบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับนักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษของมหาวิทยาลัย โดยปัจจุบัน มรภ.สงขลา มีนักศึกษาพิการเข้ารับการศึกษาจำนวน 24 คน